ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

กรอบงานวิจัย

เลือกดูรายละเอียดตามปีงบประมาณทุนวิจัย

ดาวน์โหลด PDF File

กรอบการวิจัยปีงบประมาณปี 2568

หลักการและเหตุผล 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านระบบสุขภาพที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาด้านระบบสุขภาพในเชิงระบบได้อย่างครอบคลุม และสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ทันต่อบริบทและสถานการณ์ รวมถึงความท้าทายในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อปัญหาสุขภาพของประชากรไทยอย่างรวดเร็ว ผันผวน และซับซ้อนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้ขอบเขตการวิจัยที่มุ่งเน้นการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับโรคระบาดระดับชาติโรคอุบัติใหม่ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำเพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูง โดยมีความเชื่อมโยงกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) รวมถึงการวิจัยที่สนับสนุนนโยบายสาธารณะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวนโยบายด้านสุขภาพที่เหมาะสม การสร้างแนวปฏิบัติที่ดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ การป้องกันการเกิดโรค และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในทุกช่วงวัยของประชากร เพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์

  • สนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อมุ่งเน้นการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้สามารถลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) และรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/โรคอุบัติใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ครอบคลุมการพัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ การพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ และการพัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ
  • สนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภายใต้แผนงานวิจัย   จีโนมิกส์ประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำเพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูง

ขอบเขตการดำเนินงาน 

สวรส. ประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายใต้ 4 แผนงาน ได้แก่

  • แผนงานพัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ
  • แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ
  • แผนงานพัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ
  • แผนงานสร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์ และการแพทย์แม่นยำเพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูง  

โดยมีความเชื่อมโยงกับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) วัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก และกรอบการวิจัย ในแต่ละแผนงานวิจัยของ สวรส. ดังนี้

แผนด้าน ววน. P10 (S2) ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่

   แผนงานย่อย

     N15 (S2P10) พัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ

     N16 (S2P10) พัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ

     N17 (S2P10) พัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

     หมายเหตุ  S=ยุทธศาสตร์, P=แผน, N=แผนงานย่อย (Non flagship)

วัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก (Objectives and key results: OKRs)

     Objective  O1 ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้สามารถลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) และรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/โรคอุบัติใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

     Key result

  • KR1 จำนวนระบบสุขภาพแบบบูรณาการระดับประเทศและ/หรือพื้นที่ (Integrated Health Services: IHS) ที่ใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบ และนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งแสดงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) ได้แก่ 1) โรคติดเชื้อ 2) โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3) การบาดเจ็บ และการรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่

  • KR2 จำนวนกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือ (Consortium) ที่ประกอบด้วยเครือข่ายสถาบัน/ศูนย์วิจัยในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งกระจายในทุกภูมิภาค และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคระบาดระดับชาติ/โรคอุบัติใหม่ และภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) ที่แสดงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการช่วยเหลือ/สนับสนุนประเทศและ/หรือพื้นที่ให้สามารถรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/โรคอุบัติใหม่ และลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ โดยใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบ และนวัตกรรมสมัยใหม่ เพิ่มขึ้น

  • KR3 จำนวนเทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ถูกนำไปใช้และเกิดผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่ และการลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ
  • KR4 จำนวนนโยบายและมาตรการที่ได้ประกาศใช้ ในระดับประเทศและ/หรือพื้นที่ ซึ่งพัฒนาโดยใช้การวิจัย และแสดงผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่ และลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) เพิ่มขึ้น

  • KR5 จำนวนประชาชนที่ได้รับบริการจากระบบสุขภาพแบบบูรณาการระดับประเทศ และ/หรือ พื้นที่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ในการรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่ และลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (National Burden of Disease: BOD) โดยใช้ผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบ และนวัตกรรมสมัยใหม่

3.1 กรอบการวิจัยแผนงานพัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ

แผนงานวิจัย/S/P/N/OKR   

กรอบการวิจัย/ประเด็นวิจัย

3.1.1 แผนงานวิจัยจัดการเชิงระบบเพื่อสนับสนุนการบริหารเวชภัณฑ์ของประเทศ

S2P10N15

OKR: O1, KR 1-5

3.1.2 แผนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์

S2P10N15

OKR: O1, KR 1-5

1. การอภิบาลระบบยา: พัฒนากลไกการเข้าถึงยาราคาแพง การจัดการข้อมูลสิทธิบัตร/ทรัพย์สินทางปัญญา, pharmaco-politics กับระบบยา

2. ปฏิบัติการเกี่ยวกับยา & Transforming health service delivery : การจัดบริการสุขภาพในระดับ self-care/self-medicine งานชุมชน ปฐมภูมิ โรงพยาบาล intermediate care ให้กลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมาย การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี การจัดการห่วงโซ่อุปทาน

3. บทบาทของภาคประชาสังคม ในกระบวนการนโยบายด้านยา: บทบาทภาคประชาสังคมในกระบวนการนโยบายด้านยา  ติดตามเฝ้าระวัง, การเข้าถึงยาจำเป็น, การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ

4. ระบบยาในภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข: วิเคราะห์นโยบายและการปฏิบัติที่ผ่านมาถอดบทเรียน ประเมินผลลัพธ์/ผลกระทบ เตรียมการรองรับภัยพิบัติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน ในอนาคต

5. การพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านยา: การพัฒนาระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนอุตสาหกรรม 1st generic, สมุนไพร,  กำลังคน, biosimilar, advanced therapy medicinal products (ATMPs)

 

3.1.3 แผนงานวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์

S2P10N15

OKR:  O1, KR 1-5

3.1.4 แผนงานวิจัยการเตรียมความพร้อม และการขยายผลของเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ

S2P10N15

OKR:  O1, KR 1-5

1. การวิจัยพัฒนาวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่เป็นความต้องการของประเทศ มีมูลค่าการนำเข้าสูง มีปริมาณการใช้จำนวนมาก โดยมุ่งเน้นระยะการวิจัย (Phase) ที่ต่อยอดการพัฒนาต้นแบบหรือขยายผลการใช้งานเพื่อประเมินประสิทธิภาพ ความปลอดภัย หรือการนำไปใช้จริง (Pragmatic use) สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำไปใช้งานในระบบ หรือเชิงพาณิชย์

2. การพัฒนา Platform เทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการตอบสนองและแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับบริการทางการแพทย์และสุขภาพได้ทั่วถึง

3. การวิจัยเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เกิดเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระบบบริการ

4. การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การผลิตอุตสาหกรรม (Scale up process)

5. การขึ้นทะเบียนขออนุมัติสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) FDA registration

3.1.5 แผนงานวิจัยระบบข้อมูลสุขภาพ

S2P10N15

OKR:  O1, KR 1-5

1. การทำระบบทะเบียนมาตรฐาน (Registry) ของโรคสำคัญต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานทางตาและหู เพื่อเกิดระบบการบูรณาการ การบริหารจัดการ และการวางแผนงานระบบบริการในการรักษาให้เกิดประสิทธิภาพ

2. การศึกษาระบาดวิทยา เพื่อการป้องกันและการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประชากรไทย โดยการบูรณาการข้อมูลจนนำไปสู่ Big data ของระบบเฝ้าระวังโรค

3. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนวิธีการรักษาหรือแนวเวชปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการตรวจ และการดูแล ส่งเสริมประสิทธิภาพระบบบริการสุขภาพ

4. การพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพ (Digital online) เพื่อการดูแลรักษา


3.2 กรอบการวิจัยแผนงานพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ

แผนงานวิจัย/S/P/N/OKR   

กรอบการวิจัย/ประเด็นวิจัย

3.2.1 แผนงานวิจัยพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ

S2P10N16

OKR:  O1, KR 1-5

 

1. การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพแบบบูรณาการระดับประเทศและ/หรือพื้นที่ (Integrated Health Services: IHS) ที่ใช้นวัตกรรมเชิงบริหารจัดการ นวัตกรรมเชิงระบบ (ระบบส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษา ฟื้นฟู และการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย) และนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่สามารถประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ (Burden of Disease: BOD) เช่น โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การบาดเจ็บ การรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (SDH) โดยสามารถแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ในด้านจำนวนประชาชน/จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัยที่พัฒนาระบบสุขภาพ

2. การวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการที่สามารถประกาศใช้ในระดับประเทศและ/หรือพื้นที่ ซึ่งพัฒนาโดยใช้การวิจัยและแสดงผลสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรับมือกับโรคระบาดระดับชาติ/ โรคอุบัติใหม่ และลดภาระโรคที่สำคัญของประเทศ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

3. วิจัยเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพโดยการเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศในอนาคต  

4. วิจัยเพื่อยกระดับระบบบริการ ตาม Service plan เพื่อลดอัตราการป่วยและอัตราตายโรคสำคัญ โดยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ

5. วิจัยเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมเชิงระบบในการให้บริการในยุคดิจิทัล เช่น Telemedicine และพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพให้เอื้อต่อการบริการอย่างไร้รอยต่อ

6. วิจัยเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

7. วิจัยระบบกำลังคนด้านสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น

8. วิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารสุขภาพ ยกระดับการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้อย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สะดวกรวดเร็ว ในยุค Digital disruption

9. การประเมินยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี 2559-2568  เช่น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ หรือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับยาหรืออุปกรณ์ ในการรักษาโรคไม่ติดต่อ ที่สัมพันธ์กับนโยบายลดเกลือ

10. การประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพ เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม กับ ความชุกของโรคไม่ติดต่อ (โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง)

11. ผลกระทบของนโยบายลดการบริโภคเกลือต่ออุตสาหกรรมอาหาร เช่น ศึกษาความสัมพันธ์ของระดับการตอบสนองและการปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารที่ปฏิบัติตาม หรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายลดเกลือ

12. การสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อพัฒนากฎหมายเก็บภาษีเกลือ (Salt tax)

13. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเชื่อมข้อมูลจากระบบบริการสุขภาพในทุกระดับ ทุกสังกัด สร้าง Big data ด้านสุขภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการสุขภาพ (เช่น บัตรประชาชนใบเดียว) และการวิจัยเพื่อการกำหนดนโยบาย

14. การวิจัยเพื่อยกระดับศักยภาพในการวิจัย ระบบการเก็บข้อมูล (ทั้งคนและงบประมาณ) ให้ตอบสนองความต้องการในการใช้ (ที่ครอบคลุมเรื่องประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และต้นทุนของ Intervention ในการส่งเสริมสุขภาพ) ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่

15. Open data policy เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล ตรวจสอบ ใช้ประโยชน์และให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ

16. ศึกษารูปแบบสวัสดิการ (ที่พัก การเดินทาง) สำหรับผู้ป่วย Chronic conditions ที่จำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่องที่ไกลจากบ้าน เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องการรังสีรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยโรค Rare disease ที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง

17. พัฒนาระบบประเมินและกำกับติดตามคุณภาพของการให้บริการ Telemedicine

18. ภาระงบประมาณสำหรับบริการ LTC สำหรับผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงในปัจจุบัน /  ข้อเสนอในการชะลออุบัติการณ์ผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง เช่น IMC การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

19. IMC และ LTC care model ที่เหมาะสมกับ Urban area และ Rural area

20. Benefit package การบริการ Respite care

 

3.2.2 แผนงานการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ: การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ.

S2P10N16

OKR:  O1, KR 1-5

 

1. การขับเคลื่อนการใช้งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิภายใต้สังกัด อบจ. และทดลองการยกระดับการจัดบริการของ รพ.สต. ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 62 จังหวัดโดยพัฒนากลไกเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการ (รพช. รพ.สต.) และหน่วยบริหารระบบ (อบจ. สสจ. สสอ. สปสช.)

2. การกำกับติดตามประเมินผลการดำเนินงานของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิภายใต้สังกัด อบจ.

3. การออกแบบระบบการบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของ อบจ. หน่วยบริการและหน่วยบริหารในสังกัด กสธ. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจัดทำยุทธศาสตร์บูรณาการระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้กลไก (กสพ.) โดยใช้แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่

4. การสังเคราะห์นโยบายจากการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และการบริหารจัดการเครือข่ายในพื้นที่ อบจ. นำร่องด้วยแนวทางการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation)

5. การจัดทำแนวทางและขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยบริการสังกัด กสธ. และ รพ.สต. ถ่ายโอนโดยถอดบทเรียนจากพื้นที่ อบจ. นำร่อง และเผยแพร่ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการขยายผลแก่ อบจ. อื่น

6. การศึกษาต้นทุน รพ.สต. ถ่ายโอน (ต้นทุนต่อหัวประชากร ทั้ง OP และ PP) ใน รพ.สต. ขนาด S, M, L  / การศึกษารูปแบบ Payment for primary care ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

7. วิจัยเพื่อออกแบบระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ทั้งระบบบริการ ระบบกำลังคน ระบบข้อมูล ระบบเทคโนโลยี ยาและเวชภัณฑ์ ระบบการเงินการคลัง และระบบอภิบาล

 


3.3 กรอบการวิจัยแผนงานพัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ

แผนงานวิจัย/S/P/N/OKR   

กรอบการวิจัย/ประเด็นวิจัย

 3.3.1 แผนงานการวิจัยเพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

S2P10N17

OKR:  O1, KR 1-5

 

1.  การประเมินความคุ้มค่าเพื่อการกำหนดสิทธิประโยชน์และการประเมินการเข้าถึงบริการที่อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยประเด็นหรือโจทย์วิจัยต้องมาจากการคัดเลือกของคณะทำงานที่อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

2.  การนำนโยบาย มาตรการ เทคโนโลยี ต้นแบบบริการ หรือระบบต้นแบบ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผล เพื่อนำมาวิจัยประยุกต์ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพแก่ประชากรเปราะบาง อันได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานข้ามชาติ ประชากรชาติพันธุ์ เด็ก เยาวชน ประชาชนที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต  ประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยสุขภาพจากสิ่งแวดล้อม ประชากรที่เสี่ยงต่อการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ผลวิจัยต้องนำไปสู่การปรับปรุงตัวชี้วัดผลลัพธ์ และมีตัวชี้วัดความยั่งยืนของระบบ กระบวนการวิจัยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมวิจัยและออกแบบการแก้ปัญหาจากกลุ่มเปราะบางเป้าหมาย องค์กรผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง มีการลงทุนงบประมาณหรือทรัพยากรจากองค์กรต่างๆเพื่อร่วมดำเนินการ ได้เครื่องมือ กลไก มาตรการใหม่ ที่สะท้อนว่าจะเกิดนโยบายหรือมาตรการที่ยั่งยืน และต้องมีกลไกและเครื่องมือที่สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง

3.  การพัฒนาระบบบริการและวิธีจ่ายเน้นคุณค่า (Value-based care) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรสุขภาพ โดยมีการออกแบบและทดสอบระบบบริการที่บูรณาการครอบคลุมตั้งแต่ส่วนส่งเสริม ป้องกัน รักษา และหรือรวมถึงการฟื้นฟู มีระบบข้อมูลส่วนบุคคลที่ติดตามผลลัพธ์การให้บริการ มีข้อเสนอการจ่ายค่าบริการที่ขึ้นกับผลลัพธ์บริการ ข้อเสนอโครงการที่ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ คือ โครงการทิ่วิจัยและพัฒนาขอบเขตระบบบริการสุขภาพไปยังชุมชน บ้าน หรือสถานประกอบการ สำนักงาน เพื่อสร้างมาตรการสนับสนุนความรอบรู้ด้านสุขภาพและศักยภาพการจัดการตนเองของประชากรเป้าหมาย ผลลัพธ์การวิจัยต้องได้มาตรการและระบบบริการที่มีประสิทธิภาพ ลดการเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

 


3.4 กรอบการวิจัยแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย

          นโยบายด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศไทยภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580” ได้กำหนดให้การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม และบริการการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการรักษาพยาบาล และยกระดับการ ให้บริการการแพทย์ที่มีคุณภาพในระดับสากล สามารถนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดีและเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ครอบคลุมด้านอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ ได้แก่

1) การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ การผลิตอวัยวะเทียม การผลิตเวชภัณฑ์ และครุภัณฑ์การแพทย์ 
2) การผลิตเภสัชภัณฑ์
3) การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการให้คำปรึกษา วินิจฉัย และพยากรณ์การเกิดโรคล่วงหน้า
4) การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพทางไกล
5) ระบบการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชน

         การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศทั้งในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาวิจัย และการแข่งขันทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและบริการ ประกอบกับประเทศไทยมีจุดแข็งจากความเป็นผู้นำด้านการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ และมีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ตลอดจนมีโอกาสจากการที่ เทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนา จนทำให้ต้นทุนในการดำเนินการถูกลงส่งผลให้ความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) เทคโนโลยีการตรวจทางพันธุกรรมและเทคโนโลยีจีโนมิกส์เป็นไปได้ง่ายและมากขึ้น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยยกการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการ การแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในแผนงานย่อย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ทางการแพทย์ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และคณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 สนับสนุนให้เกิดการนำข้อมูลพันธุกรรมของบุคคลมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้มาตรการ 6 ด้าน ประกอบด้วย

1) การวิจัยและการประยุกต์ใช้ 
2) การบริการ
3) การวิเคราะห์และจัดการข้อมูล  
4) การจัดการกฎหมายและจริยธรรม
5) การผลิตและพัฒนาบุคลากร
6) การส่งเสริมและพัฒนา

         โดยมีความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ แผน/ แผนงานกองทุน ววน. กับแผนงานวิจัยและกรอบการวิจัยของ สวรส. ดังนี้

         แผน ววน. P1 (S1) พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว(Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ

         แผนงานย่อย N1 (S1P1) สร้างความสามารถและยกระดับการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้เกิดบริการการรักษาที่มีความแม่นยำสูง   

         วัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก (Objectives and key results: OKRs)  Objective O2 ประเทศไทยสามารถยกระดับในการให้บริการจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ สามารถให้บริการโดยโรงพยาบาลในประเทศได้อย่างแพร่หลาย โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  Key result KR4 ประเทศไทยมีการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ที่มีคุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (10 รายการในช่วงปี 2566-2670)

กรอบวิจัย

เรื่อง

กรอบการวิจัย/ประเด็นวิจัย

1. โรคมะเร็ง (Cancer)

 

1.1 งานวิจัยโรคมะเร็งที่ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่ เช่น Long-read sequencing, Spatial omics, Methylation sequencing เป็นต้น 

1.2 งานวิจัยโรคมะเร็งที่เพิ่มศักยภาพหรือมีการใช้ประโยชน์จาก cancer genome data ได้แก่ การพัฒนา screening test หรือ prognostic biomarker ที่ใช้ข้อมูล cancer genome data

1.3 การแปลผล ส่งคืนผลและให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม เพื่อต่อยอดสู่การนำไปถ่ายทอดให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายวิจัย และขยายสู่การให้บริการแก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

2. กลุ่มโรคพันธุกรรมยีนเดียว โรคหายาก และโรควินิจฉัยยาก (Single Gene Disorders, Rare Diseases, Difficult-to-diagnosed Diseases, and Undiagnosed Diseases)

2.1 งานวิจัยกลุ่มโรคพันธุกรรมยีนเดียว โรคหายาก และโรควินิจฉัยยากที่ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่ เช่น Long-read sequencing, RNA sequencing (transcriptome), Methylation sequencing (epigenome) เป็นต้น 

2.2 การวิจัยเพื่อหา diagnostic yield และความคุ้มค่าของเทคโนโลยี sequencing ชนิดต่าง ๆ สำหรับกลุ่มโรคพันธุกรรมยีนเดียว โรคหายาก และโรควินิจฉัยยาก ที่มาด้วยอาการหนึ่ง ๆ 

2.3 การวิจัยเพื่อให้ทราบถึงความหมายของ genetic variants ที่ได้จากการทำ whole genome sequencing และอาจเป็นสาเหตุของโรควินิจฉัยยาก (Functional studies of variants of unknown clinical significance) 

2.4 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น ชุดตรวจโรควินิจฉัยยาก แนวทางการ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรควินิจฉัยยาก 

2.5 การวิจัยเพื่อศึกษาเทคโนโลยีการหาลำดับสารพันธุกรรมที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มโรคพันธุกรรมยีนเดียว โรคหายาก และโรควินิจฉัยยาก  ในทารกแรกเกิด

3. โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) 

 3.1 การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยในระยะแรก 50,000 ราย เพื่อพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อในประชากรไทย โดยอาจเป็น polygenic risk scores หรืออาจเป็นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคนิคอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการ

3.2 การศึกษาทาง multi-omics ที่นำไปสู่ความเข้าใจการเกิดโรคหรือการพยากรณ์ความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อในประชากรไทยได้

3.3 การศึกษาทางพันธุกรรมของกลุ่มโรคไม่ติดต่อซึ่งเป็นปัญหาสำคัญหรือเป็นโรคที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงในประชากรไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ long-read sequencing technology เช่น ในกลุ่มโรคทางภูมิคุ้มกัน

3.4 การวิจัยแกนกลางเพื่อพัฒนามาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลด้าน phenotype ของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพื่อการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ ข้อมูลระหว่างกลุ่มวิจัย

4. โรคติดเชื้อ (Infectious disease)

4.1 งานวิจัยและพัฒนาบริการหรือระบบบริการ 

  4.1.1 การวิจัยปฏิสัมพันธ์ในระดับจีโนมระหว่างเชื้อก่อโรคและมนุษย์

  4.1.2 ระบบประมวลและรายงานผลข้อมูลพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรค เพื่อใช้ในการวินิจฉัยการดื้อยา การติดตามการระบาดติดต่อของเชื้อ ตลอดจนถึงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางระบาดวิทยา  

  4.1.3 ระบบประมวลและรายงานผลข้อมูลพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส  ที่สำคัญ เช่น coronavirus, dengue virus เป็นต้น เพื่อใช้ในการวินิจฉัยการดื้อยา การติดตามการระบาดติดต่อของเชื้อ ตลอดจนถึงเพื่อใช้ประโยชน์ในทางระบาดวิทยา  

  4.1.4 ระบบประมวลและรายงานผลข้อมูลพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อที่ติดต่อ ในโรงพยาบาลสำคัญ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยการดื้อยา การควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล และการติดตามการระบาดติดต่อของเชื้อ   

  4.1.5 ระบบประมวลผลข้อมูลพันธุกรรมทั้งจีโนม และระบบการรายงานผลการดื้อยา
 
  4.1.6 การวินิจฉัยการติดเชื้อจากการหาลำดับสารพันธุกรรมในสิ่งส่งตรวจโดยตรง

4.2 งานวิจัยและพัฒนาที่สร้างองค์ความรู้/พัฒนาบุคลากรวิจัยในประเทศ ให้มีความเชี่ยวชาญทาง Genomics สำหรับเชื้อก่อโรค

  4.2.1 การศึกษาระบาดวิทยาในระดับจีโนมของเชื้อก่อโรคในประเทศไทยที่สำคัญที่มีความก้าวหน้าเพิ่มเติมจากงานที่มีอยู่เดิมอย่างชัดเจน  

  4.2.2 การศึกษาปัจจัยพันธุกรรมของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคติดเชื้อ และการตอบสนองต่อยารักษาโรคติดเชื้อ

  4.2.3 งานวิจัยลักษณะเครือข่ายหลายสถาบันและเป็นสหสาขาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์จีโนมของเชื้อก่อโรค ที่สำคัญในประเทศไทย

5. เภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) 

5.1 การพัฒนาเครือข่ายวิจัยทางห้องปฏิบัติการด้านเภสัชพันธุศาสตร์ครอบคลุม ทั่วประเทศและการกำหนดมาตรฐานและ การพัฒนาแนวทาง (Guideline development) ด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และการวิจัยเชิงระบบที่เกี่ยวข้อง 

5.2 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านเภสัชพันธุ์ศาสตร์ เช่น ชุดตรวจยีนแพ้ยาที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย 

5.3 การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับการใช้ข้อมูลเภสัชพันธุศาสตร์ผ่าน telemedicine หรือ personal health records

5.4 การคืนผลตรวจเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการใช้ยา

5.5 การวิเคราะห์หาปัจจัยเสี่ยงทางเภสัชพันธุศาสตร์กับการแพ้ยา หรือเลือกใช้ยา

5.6 การศึกษาเภสัชพันธุศาสตร์ร่วมกับเภสัชจลศาสตร์ เภสัชพลศาสตร์ของยาต่างๆ ที่ใช้ในกลุ่มโรคสำคัญ 

6. การศึกษาต้นทุนอรรถประโยชน์ (cost utility) หรือความคุ้มค่า (cost effectiveness) 

6.1 การศึกษาต้นทุนอรรถประโยชน์ (cost utility) หรือความคุ้มค่า (cost effectiveness) ของการตรวจพันธุกรรมและการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์สำหรับโรคที่สำคัญในกลุ่มโรคมะเร็ง โรคพันธุกรรมยีนเดียว โรคหายาก และ โรควินิจฉัยยาก โรคไม่ติดต่อ และโรคติดเชื้อ

6.2 อื่นๆ


4. คุณสมบัติของผู้เสนอขอรับทุนและเงื่อนไข

4.1 ผู้มีสิทธิเสนอขอรับทุน คือ สถาบัน/หน่วยงาน/นักวิจัย/นักวิชาการอิสระ จากภาครัฐ/เอกชน ที่สนใจ
4.2 ข้อเสนอโครงการวิจัยต้องไม่ใช่วิทยานิพนธ์ปริญญาโท หรือปริญญาเอก
4.3 กรอบงบประมาณขึ้นอยู่กับเป้าหมายและตัวชี้วัดของข้อเสนอโครงการวิจัย 
4.4 ยื่นในนามหัวหน้าโครงการเท่านั้น เพื่อเป็นการรับรองว่าข้อมูลที่เสนอมามีความถูกต้อง ครบถ้วน
4.5 หัวหน้าโครงการ สามารถส่งข้อเสนอโครงการได้ไม่เกิน 2 โครงการ  
4.6 เป็นโครงการ/ชุดโครงการ ที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการวิจัยไม่เกิน 2 ปี (1 ชุดโครงการ หมายถึง โครงการวิจัยไม่น้อยกว่า 2 โครงการ) โดยข้อเสนอโครงการที่เป็นชุดโครงการวิจัยต้องแสดงถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความเชื่อมโยงของโครงการวิจัยที่อยู่ภายใต้ชุดโครงการเพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ของชุดโครงการอย่างชัดเจน 
4.7 กรณีโครงการที่เป็นการดำเนินการวิจัยในมนุษย์ สามารถส่งข้อเสนอโครงการได้โดยยังไม่ต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เว้นแต่เมื่อได้รับการพิจารณาสนับสนุนให้ทุนวิจัยแล้ว จำเป็นต้องแสดงหลักฐานการยื่นขอการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนการทำข้อตกลง 
4.8 ผู้ขอรับทุนจะต้องไม่เป็นผู้ติดค้างการส่งรายงานต่างๆ ของโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวรส. โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
4.9 ผู้ขอรับทุนจะต้องสามารถดำเนินการวิจัยได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับทุน รวมทั้งสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดอย่างมีคุณภาพ

5. การพิจารณาข้อเสนอโครงการ

เกณฑ์การคัดเลือกข้อเสนอโครงการเบื้องต้น 

1) ข้อเสนอโครงการเป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศทุนที่ระบุไว้ และเป็นภาษาไทยเท่านั้น
2) มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนสอดคล้องตามแนวทางประกาศทุน 
3) สถาบัน/หน่วยงาน และผู้รับผิดชอบโครงการมีความรู้ และประสบการณ์การบริหารจัดการงานวิจัย การดำเนินงานวิจัยและคาดได้ว่าจะสามารถปฏิบัติงานและควบคุมการวิจัยได้ตลอดเวลาการรับทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด 
4) เป็นโครงการที่มีการสะท้อนความร่วมมือและ/หรือมีการสนับสนุนจากภาคีความร่วมมือ และระบุผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างชัดเจน 
5) ระยะเวลาดำเนินงานวิจัย 1-2 ปี หากเป็นโครงการต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี นักวิจัยต้องแสดงให้เห็นเป้าหมายสุดท้าย (End Goal) และมีเส้นทางไปถึงเป้าหมายรายปี (Milestone) แสดงไว้อย่างชัดเจน 
6) สวรส. มีกระบวนการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับแผนงานวิจัย ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ทั้งนี้ อาจจะเชิญหน่วยงาน/นักวิจัยที่ได้ผ่านการพิจารณาเข้ามาหารือเพื่อพัฒนากรอบการวิจัยใหญ่ที่ตอบเป้าหมายและ OKR ของแต่ละแผนงานวิจัยต่อไป 

หลักเกณฑ์การพิจารณา

1) มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศด้านสุขภาพและระบุปัญหาหรือความจำเป็นที่ต้องทำวิจัยเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน และ/หรือสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) ได้
2) มีวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ ไม่ใช่งานประจำ หรือการทำกิจกรรมที่นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
3) มีคำถามวิจัย หรือโจทย์วิจัยที่ชัดเจน
4) มีความสมบูรณ์ของโครงการวิจัยเพียงพอที่ทำให้เข้าใจกรอบความคิดการวิจัยได้
5) มีการออกแบบโครงการวิจัยที่ระเบียบวิธีวิจัยมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และโจทย์วิจัย
6) เป็นโครงการวิจัยที่เน้นการวิจัยเชิงระบบสุขภาพ หรืออาจเป็นงานวิจัยสุขภาพที่มุ่งเป้าชัดเจน และสามารถแสดงผลลัพธ์ หรือผลกระทบได้อย่างชัดเจน
7) นักวิจัย และทีมวิจัยมีศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ คุณสมบัติ ที่สอดคล้องกับโครงการวิจัย
8) เป็นโครงการวิจัยที่มีแนวทางและความต้องการการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ หรือสามารถนำไปสร้างผลกระทบที่ชัดเจน
ทั้งนี้การพิจารณาของ สวรส. ถือเป็นที่สิ้นสุด

6. กำหนดระยะเวลา

6.1 ประกาศประชาสัมพันธ์ และยื่นข้อเสนอโครงการ (Proposal) วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย. 2567
6.2 พิจารณาข้อเสนอโครงการ วันที่ 1 พ.ค.-31 พ.ค. 2567
6.3 ประกาศรายชื่อข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น วันที่ 4 มิ.ย. 2567
หมายเหตุ
    1. ระยะเวลาอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
   2. โครงการที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย และกระบวนการสนับสนุนงบประมาณโครงการวิจัยต่อไป
 

7. การยื่นข้อเสนอโครงการ 

ประกาศรับข้อเสนอโครงการ (Full Proposal)  ผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Information System: NRIIS) โดยผู้สนใจสามารถกรอกข้อมูลและยื่นผ่านทางเว็บไซต์ www.nriis.go.th พร้อมแนบไฟล์ Word ของข้อเสนอโครงการดังกล่าว ได้ตั้งแต่วันที่      1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2567 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  02 027 9701
ผู้ประสาน ได้แก่
 
นายวศพล ฉัตรเกตุ ต่อ 9057
นางสาวกฤษณา ใจวัน ต่อ 9054
นางสาวอุไรวรรณ  บุญแก้วสุข ต่อ 9059

กรณีถ้ามีข้อขัดข้องทางเทคนิค/การคีย์ข้อมูลผ่านระบบ NRIIS สามารถติดต่อผ่านช่องทางสายด่วน Hotline 097 107 9090 ทีมพัฒนาระบบ NRIIS หรือ Email: nriis@nrct.go.th 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้