งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีจากกระทรวงสาธารณสุขสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2551 เป็นสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทการบริหารระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานของประเทศ เป็นความท้าทายต่อระบบโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยในการรองรับภารกิจใหม่นี้ ระบบอุปทานยาเป็นหนึ่งในมิติความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนา ทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านและในระยะยาวเพื่อภารกิจที่ยั่งยืน เป็นที่มาของโครงการวิจัยเพื่อออกแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานยาเมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจ โดยวิทยาลัยการบริหารเภสัชกิจแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในปี พ.ศ. 2566 มีวิธีการศึกษาแบบผสมค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องจากหลักฐานข้อมูลวิชาการ การลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ การค้นหาปัจจัยเพื่อสังเคราะห์รูปแบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานยาที่มีประสิทธิภาพ ประกอบเป็นข้อเสนอแนะให้จังหวัดนำไปประยุกต์ใช้ ผลการวิจัยพบว่า การกระจายอำนาจความรับผิดชอบสถานบริการปฐมภูมิเป็นแนวโน้มทิศทางนโยบายการจัดการบริการสาธารณสุขในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว การถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ เป็นการกระจายอำนาจด้านสุขภาพของประเทศที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่มีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพโดยเท่าเทียม เปิดโอกาสให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการบริการสุขภาพในพื้นที่ตนเอง ที่สำคัญ คือ การรักษาพยาบาลระดับที่สูงกว่าปฐมภูมิ และภาคเอกชนสามารถมาร่วมทำภารกิจได้ อย่างไรก็ตามการจัดการห่วงโซ่อุปทานยาเป็นส่วนสำคัญในภารกิจด้านบริการสุขภาพที่มีความซับซ้อนในหลายมิติของการดำเนินการ และการจัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุน อบจ. ในฐานะหน่วยงานหลักต้องประสานความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจกับองค์กรและคณะบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลแม่ข่าย เป็นต้น และยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานและข้อกำหนดทางกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เป็นปัจจัยความท้าทายของแต่ละจังหวัดที่มีความแตกต่างกันในการจัดหายาให้เพียงพอต่อการบริการรักษาพยาบาล เป็นที่มาของการออกแบบการจัดการอุปทานยา เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ อบจ. โดยใช้แนวคิด Vendor-Managed Inventory (VMI) ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ จำนวน 3 รูปแบบตามตัวเลือกผู้จัดหายา (vendor) ได้แก่ รพ.แม่ข่ายเดิม (CUP) การใช้ Outsource หรือ อบจ. เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ ข้อกำหนด และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดในด้านรูปแบบการบริการ (service delivery) แหล่งงบประมาณและบุคลากรสนับสนุน ทั้ง 3 รูปแบบได้ผ่านการประเมินจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ การวิจัยครั้งนี้ยังค้นพบกระบวนวิธีที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลสำหรับการจัดการห่วงโซ่อุปทานยา ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนระบบการบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อของจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ตาม การนำผลการวิจัยสู่การปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความท้าทายที่สำคัญในประเด็นข้อจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างกระทรวงตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย ต้องอาศัยนโยบายสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. และ กสพ. กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นผล
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้