งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
สถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบทั่วโลกทุกด้าน ทำให้ประชาชนในทุกภาคส่วนมีความกังวลด้านความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังต้องดูแลปกป้องตัวเอง มีการกักตัวอยู่บ้านเมื่อมีการสัมผัสหรือเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดซ้ำ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเกิดความเครียดและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา โดยพบว่าข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ของกรมสุขภาพจิตเผยให้เห็นว่า สุขภาพจิตคนไทยในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีเสี่ยงซึมเศร้าสูงถึง 34.1% กลับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเกิดโรค COVID-19 ระบาด ด้วยเหตุนี้งานวิจัยจึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการศึกษาสุขภาวะทางจิตใจและการจัดการความเครียดของประชาชนไทยหลังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยมุ่งส่งเสริมสุขภาวะจิตใจแบบวิถีชีวิตปกติใหม่ ในกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาความเครียดในระดับน้อยถึงปานกลาง เพื่อเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของประชาชนไทยโดยมีการใช้ Biofeedback ร่วมในการประเมินผลด้วย การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อการศึกษาสุขภาวะทางจิตใจ และการจัดการความเครียดของประชาชนไทยในยุคหลังโควิด-19 เพื่อรองรับวิถีชีวิตปกติใหม่ มีการทั้งหมดศึกษา 3 ระยะ โดยชุมชนเมืองที่ศึกษาได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือประชาชนในชุมชนเมืองจำนวน 175 คน รวมทั้ง 3 ระยะ โดยได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจะต้องพักอาศัยในชุมชนเมืองและมีความเข้าใจบริบทชุมชนเมืองที่ตนอาศัยอยู่พอสมควร กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) จึงเลือกที่จะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยสถิติเชิงพรรณนา (ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และพิสัย (range) ใช้อธิบายลักษณะข้อมูลประชากร คุณสมบัติตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา และคะแนนระดับความเครียด การวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเครียด และสุขภาวะทางจิตใจ โดยเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย จำแนกตามปัจจัยข้อมูลทั่วไป แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้สถิติ Independent t-test และแบ่งมากกว่า 2 กลุ่ม โดยใช้สถิติ One-way ANOVA การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเครียด และสุขภาวะทางจิตใจ โดยใช้การวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้นแบบพหุคูณ (Multiple Linear Regression) ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ จะทำการจัดหมวดหมู่ข้อมูลโดยใช้วิธี Thematic analysis ระยะที่ 2 เป็นการวิจัยแบบเน้นการมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) โดยสัมภาษณ์ตามแนวคำถามในการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) จากนั้นจะวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการจัดหมวดหมู่ข้อมูลแบบวิธี Thematic analysis เช่นกัน ระยะที่ 3 เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – Experiment)จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และพิสัย (range) ใช้อธิบายข้อมูลประชากร คุณสมบัติและตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ความเครียด และสุขภาวะทางจิตใจ และใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางเมื่อวัดซ้ำ (two-way repeated measure ANOVA) [ระหว่างและภายในกลุ่ม (one within-one between)] โดยใช้ค่าความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ย (mean scores) สำหรับความเครียดและสุขภาวะทางจิตใจ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ด้วยการวัด 2 ช่วง คือ ก่อนการทดลอง (pre-intervention) (สัปดาห์ 0) หลังการทดลอง (post-intervention) (สัปดาห์ 2) ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (87.8%) ยังคงมีความเครียดระดับปานกลางถึงสูง แม้จะผ่านช่วงการระบาดมาแล้ว ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อความเครียด ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ การมีโรคประจำตัว เพศ ระดับการศึกษา และอาชีพ โดยพบว่า เพศหญิงมีความเครียดมากกว่าเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) ผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเครียดสูงกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) ผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงมีความเครียดมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) กลุ่มผู้ไม่ได้ทำงาน/แม่บ้านมีความเครียดสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) และผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอมีความเครียดมากกว่าผู้ที่มีรายได้เพียงพออย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) บริบทความเครียดเปลี่ยนแปลงจากความกลัวการติดเชื้อในช่วงระบาดมาเป็นความกังวลด้านเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของรายได้ ประชาชนจัดการความเครียดด้วยการดูแลสุขภาพร่างกาย การปรับมุมมองความคิด การแสวงหาข้อมูล และการพึ่งพาการสนับสนุนทางสังคม ผลการทดลองโปรแกรมกิจกรรมการจัดการความเครียดแบบมีส่วนร่วมที่พัฒนาขึ้นจากกรอบแนวคิด Health Literacy มีประสิทธิผลในการลดความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม และเพิ่มสุขภาวะทางจิตใจอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) โดยเฉพาะในมิติการเติบโตส่วนบุคคล ความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่ากลุ่มควบคุม (p<0.05) การวิจัยนี้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนานโยบายส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชน บูรณาการงานสุขภาพจิตเข้ากับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้านสุขภาพจิต และสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตปกติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้