งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
บทนำ ปัญหาฟันผุในฟันถาวรยังมีความชุกที่สูงในทุกกลุ่มอายุ และเมื่อฟันผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน และสภาพฟันยังสามารถบูรณะได้ สามารถเก็บฟันซี่นั้นโดยการรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับการบูรณะด้วยวิธีต่าง ๆ และได้มีการเสนอหัวข้อชุดสิทธิประโยชน์ของการรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับครอบฟันถาวรในประชากรทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป และภาคประชาสังคม การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประเมินต้นทุน-อรรถประโยชน์ของการรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับการบูรณะแบบต่าง ๆ 2) ผลกระทบด้านงบประมาณเปรียบเทียบชุดสิทธิประโยชน์ใหม่และชุดสิทธิประโยชน์เดิม และ 3) ความพร้อมของระบบบริการถ้ามีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์การรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับการบูรณะแบบต่าง ๆ การศึกษานี้ใช้วิธีการประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ได้แก่ ข้อมูลต้นทุนและอรรถประโยชน์จากผู้ให้บริการในโรงพยาบาล 5 แห่ง จากผู้ป่วยที่ได้รับบริการทั้งสิทธิประโยชน์ใหม่และสิทธิประโยชน์เดิมที่ระยะเวลา 10 ปี ทั้งการประเมินทางคลินิก การสัมภาษณ์ การทบทวนวรรณกรรมและเอกสารจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ในการศึกษาผลกระทบด้านงบประมาณ ใช้ผลการศึกษาจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ร่วมกับข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2565-2566) และในการศึกษาความพร้อมของระบบบริการ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจความพร้อมด้านเครื่องมือ กำลังคน และระยะเวลารอคอย ด้วยแบบสอบถามออนไลน์จากทันตแพทย์ทั่วไปในภาครัฐและภาคเอกชน มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือในการเก็บข้อมูล การปรับมาตรฐานผู้ตรวจและผู้สัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม GEAR4Health ของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP), โปรแกรม Excel และ SPSS Version 29.0.0.0. (241) ผลการศึกษา ผลการประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ พบว่าชุดสิทธิประโยชน์ใหม่คือการรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับการบูรณะแบบต่าง ๆ (อุด, ครอบ และเดือยฟันร่วมกับครอบฟัน) มีต้นทุนและอรรถประโยชน์ซึ่งวัดด้วยแบบสอบถามคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก (OHIP-14) และปรับเป็นค่าอรรถประโยชน์ด้วยสมการที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมมีค่าสูงกว่าทั้งต้นทุนและอรรถประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดสิทธิประโยชน์เดิม โดยมีค่าต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มสำหรับการรักษาคลองรากฟันถาวรร่วมกับการบูรณะแบบดั้งเดิม 14,717.45 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับชุดสิทธิประโยชน์เดิม จากการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ข้อเสนอแนะให้ใช้ค่าต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มที่ได้จาก OHIP-14 แทน EQ-5D-5L ด้วยเหตุผลความเหมาะสมของเครื่องมือที่ใช้วัด อย่างไรก็ตามผู้วิจัยได้นำเสนอผลของการวิเคราะห์ทั้งสองแบบ ภาระงบประมาณถ้าให้ชุดสิทธิประโยชน์นี้ในทุกกลุ่มอายุ พบว่ามีภาระงบประมาณโดยใช้ต้นทุนรวมทางการแพทย์ (ที่ไม่รวมค่าแรง) เพิ่มขึ้นในปีที่ 1 (พ.ศ. 2568) 149,140,035 บาท และในปีที่ 5 (พ.ศ. 2572) มีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น 148,822,612 บาท ที่ความครอบคลุมร้อยละ 3 และภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นในปีที่ 1 (พ.ศ. 2568) 248,566,726 บาท และในปีที่ 5 (พ.ศ. 2572) มีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น 248,037,686 บาท ที่ความครอบคลุมร้อยละ 5 ความพร้อมระบบบริการ พบว่าในภาครัฐมีความพร้อมของเครื่องมือสำหรับการรักษาคลองรากฟันถาวรในทุกขั้นตอนที่ร้อยละ 78 และความพร้อมของการทำเดือยฟันและครอบฟันที่ร้อยละ 85 ระยะเวลารอคอยโดยเฉลี่ยของภาครัฐสำหรับงานรักษาคลองรากฟันถาวรอยู่ที่ 104 วัน และการทำเดือยฟันและครอบฟันอยู่ที่ 114 วัน ทันตแพทย์ภาคเอกชนประเมินความพร้อมของเครื่องมือสูงกว่าโดยที่ความพร้อมของเครื่องมือในทุกขั้นตอนรักษาคลองรากฟันถาวรอยู่ที่ ร้อยละ 87.6 และความพร้อมของเครื่องมือในการทำเดือยฟันและครอบฟัน ร้อยละ 91.2 ค่าเฉลี่ยระยะเวลารอคอยรักษาคลองรากฟันถาวรที่ 8 วัน และระยะเวลารอคอยทำเดือยฟันและครอบฟันที่ 11 วัน ความเต็มใจในการเข้าร่วมบริการโดยใช้อัตรารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งค่ารักษาคลองรากฟันถาวรในฟันหน้า, ฟันกรามน้อยและฟันกราม มีค่า 3,400, 5,000 และ 7,000 บาท ตามลำดับ ราคาทำเดือยฟัน 2,000 บาท และราคาทำครอบฟัน 6,000 บาท พบว่าร้อยละ 69 - 77 คิดว่าไม่เหมาะสม และเสนอราคาของการรักษาคลองรากฟันหน้า, ฟันกรามน้อย, ฟันกราม เดือยฟันและครอบฟันที่ราคา (มัธยฐานหรือ median) 5,000, 7,000, 9,500, 3,500 และ 9,000 บาท ตามลำดับ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1. ชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ มีการเพิ่มขึ้นทั้งต้นทุนและคุณภาพชีวิต และชุดสิทธิประโยชน์ใหม่มีต้นทุนที่สูง ข้อควรพิจารณาคือ ความคุ้มค่าของการเพิ่มขึ้นของคุณภาพชีวิตกับจำนวนเงินที่ต้องจ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับค่าเพดานที่กำหนด (Threshold per QALY) พบว่า มีค่าต่ำกว่า 160,000 บาท มาก 2. ภาระงบประมาณที่เกิดขึ้นมีค่าสูง ซึ่งจากเดิมภาครัฐมีการให้บริการและเรียกเก็บจากผู้รับบริการ (เช่น สวัสดิการข้าราชการเบิกได้ หรือจ่ายเองในกรณีผู้รับบริการที่ใช้สิทธิประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) ซึ่งถ้าจะให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ต้องพิจารณากลไกการจ่ายเงินที่สถานบริการสามารถอยู่ได้ เพราะต้นทุนการบริการสูงกว่า งบประมาณรายหัวให้มาต่อประชาชน (capitation) มาก จึงจัดเป็น High-cost care โดยภาระงบประมาณเมื่อคิดจากการให้บริการที่ความครอบคลุมร้อยละ 3-5 ในปี พ.ศ. 2568-2572 พบว่ามีค่า 149,140,035 – 148,822,612 บาท และ 248,566,726 – 248,037,686 ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูงมากและถ้าไม่มีการจัดกลไกการจ่ายเงินเพิ่มเติมในระบบ ภาระ 2 ส่วนนี้จะตกกับสถานบริการ 3. ความพร้อมในระบบบริการ การให้เอกชนมีส่วนร่วมในการบริการเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และทำให้ความพร้อมของระบบในภาพรวมสูงขึ้น โดยพิจารณากำหนดค่าบริการที่รับได้ทั้งจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชน 4. ภาระงบประมาณใน 3 ฉากทัศน์ คือ ให้ประชากรทุกกลุ่มอายุ, ประชากร 6-15 ปี และประชากรที่มีอุบัติเหตุหรือรอยโรคมีค่าเรียงตามลำดับน้อยสุดไปมากสุดคือ ประชากรที่มีอุบัติเหตุหรือรอยโรค ประชากร 6-15 ปี และประชากรทุกกลุ่มอายุ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้