ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 85 คน
การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด
นักวิจัย :
ปัฐยาวัชร ปรากฎผล , พรทิพย์ สำริดเปี่ยม , กนกพร แก้วโยธา , กนกพร เทียนคำศรี , จำรัส สาระขวัญ , ศิริพร ครุฑกาศ , กฤตพัทธ์ ฝึกฝน , ประกาศ เปล่งพานิชย์ , สุภาพรรณ บุญสืบชาติ ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
28 มีนาคม 2567

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ถอดบทเรียนการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2) ศึกษาการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ 3) จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจาก 3 จังหวัดที่มีการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) /รพ.สต. ไปสังกัด อบจ. 100% มากกว่า 50% และน้อยกว่า 50% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 1,896 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2566 และประชุมคืนข้อมูล รวมทั้งประชาพิจารณ์ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้ 1. การถอดบทเรียนการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ สอน. /รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ตามแนวคิด 6 เสาหลักทางสุขภาพ พบว่า 1) การให้บริการสุขภาพ (Service Delivery) ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามแนวปฏิบัติเหมือนเดิม แต่มีรายละเอียดการดำเนินการที่แตกต่างไปจากเดิมภายใต้การสนับสนุนจากสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลแม่ข่ายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยในปีงบประมาณ 2566 อบจ. ยังขาดความพร้อมและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลในการจัดการระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากกระทรวงสาธารณสุข แต่มีแผนในการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2567 2) บุคลากรด้านสุขภาพหรือกำลังคนด้านสุขภาพ (Health Workforce) ของ สอน./รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ยังมีจำนวนไม่เพียงพอตามกรอบอัตรากำลัง ขาดผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสังกัด อบจ. ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติเวชกรรม บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่ สอน./รพ.สต. จำเป็นต้องมีการปรับตัวต่อระบบการทำงานใหม่และมีความต้องการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการด้านเวชปฏิบัติทั่วไปและการดูแลโรคเรื้อรัง 3) ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ (Health Information Systems) ยังใช้ของกระทรวงสาธารณสุขในหลายรูปแบบทั้ง HosXp, JHCIS, MyPCU ที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ยังไม่มีการตกลงตัวชี้วัดคุณภาพด้านการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่แน่นอน และมีการบันทึกข้อมูลเข้าระบบที่ลดน้อยลง แต่มีแผนพัฒนาฐานข้อมูลของ อบจ. ในอนาคต 4) การเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น (Access to Essential Medicines) ยังคงได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ระบบการดำเนินการแตกต่างไปจากเดิม ปริมาณและรายการยาและเวชภัณฑ์ลดน้อยลง 5) ระบบการคลังด้านสุขภาพ (Financing) ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามขนาดของ สอน./รพ.สต. น้อยกว่าจำนวนเงินที่แจ้งไว้ การจัดสรรงบประมาณจาก Central Unit for Procurement (CUP) ยังตกลงสัดส่วนไม่ลงตัวระหว่าง รพ.แม่ข่าย และ สอน./รพ.สต. 6) ภาวะผู้นำและธรรมาภิบาล (Leadership and Governance) ผู้บริหารของ อบจ. มีภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลแต่ขาดประสบการณ์และมุมมองด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านสุขภาพและสาธารณสุข สำหรับผลลัพธ์ระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ สอน./รพ.สต. ในสังกัด อบจ. พบว่า 1) การพัฒนาสุขภาพและการเข้าถึง (Improve Health) มีความพยายามในการให้บริการดูแลรักษาโรคเรื้อรังให้เหมือนเดิมมากที่สุด ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยด้วยโรคเรื้อรังเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองภาวะแทรกซ้อนและการจัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดน้อยลง 2) การตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพ (Responsiveness) ได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติทั่วไปของโรคเรื้อรังเหมือนเดิม ยังไม่พบแผนหรือแนวทางการจัดการโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ และการจัดการภาวะฉุกเฉินในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3) การลดปัจจัยเสี่ยงด้านการเงินและสังคม (Social and Financial Risk Reduction) พบปัญหาการได้รับการสนับสนุนงบประมาณน้อยกว่าชัดเจนและไม่ทันเวลา ระเบียบด้านการเงินของกระทรวงมหาดไทยไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการและสนับสนุนระบบบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสังคมยังไม่ชัดเจน 4) การพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Improved Efficiency) ยังขาดการกำหนดตัวชี้วัดคุณภาพด้านโรคเรื้อรังที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ชัดเจนและยุทธศาสตร์การพัฒนาและประเมินผลระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 2. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรพ.สต. ในสังกัดอบจ. พบว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังมีปัญหาอยู่มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเด็น จึงยังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องเร่งให้มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังครบทั้ง 6 องค์ประกอบของเสาหลักของระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดคือ ด้านบุคลากรและการคลัง ให้เพียงพอต่อการจัดการและพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3. ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังรพ.สต.ในสังกัดอบจ. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการปรับบทบาทการทำงานใหม่ในการสร้างความร่วมมือต่อการดูแลสุขภาพประชาชนในลักษณะที่สนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยยึดผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังดำเนินการตามมาตรฐานในระดับสูง ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสอดรับกับแนวคิดการกระจายอำนาจ และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการดูแลสุขภาพของตนเองไม่ผลักให้เป็นภาระของบุคลากรทีมสุขภาพ ทั้งนี้สามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้ 2 ลักษณะ คือ 1. ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถแบ่งอออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 กรณีที่ สอน./รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ยังต้องดำเนินการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายเดิมหรือภายใต้เครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1) กระทรวงสาธารณสุขต้องทบทวนหรือปรับแก้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้ 2) กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันจัดทำแนวทางการจัดและพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ รพ.สต. ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายเดิมหรือภายใต้เครือข่ายกระทรวงสาธารณสุขที่มีความชัดเจน โดยยึดผู้รับบริการโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นหลัก 3) อบจ. และ สสจ. ควรจัดทำกลยุทธ์ ถ่ายทอดตัวชี้วัด กำกับ นิเทศติดตามประเมินผลการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. 4) อบจ. และ สสจ. ร่วมกันพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ให้ทันสมัยและได้มาตรฐานในระดับสูงยิ่งขึ้นต่อไป 5) ขับเคลื่อนระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth/Telemedicine) สู่ระบบการบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. รูปแบบที่ 2 กรณีที่ รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ต้องจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังภายใต้อำนาจนิติบุคคลของ อบจ. ตามหลักการกระจายอำนาจ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 1) อบจ. ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร กรอบอัตรากำลังให้สอดคล้องกับภารกิจของ รพ.สต. โดยเฉพาะการจัดหาอัตรากำลังทีมสหวิชาชีพปฏิบัติงานใน รพ.สต. 2) อบจ. ต้องมีนโยบายการจัดระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังในพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. ตามข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาสุขภาพที่สามารถตอบสนองตัวชี้วัดด้านสุขภาพตามที่กำหนดขึ้นเพื่อเป้าหมายการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ครอบคลุม ทั่วถึง เป็นธรรมและส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีรวมทั้งประเมินผลลัพธ์และผลกระทบด้านสุขภาพของผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง 3) จัดบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเป็นระบบให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานด้วยการสร้างภาคีเครือข่ายอื่นเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งแกนนำเครือข่ายสุขภาพในระดับพื้นที่ และ 4) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกระดับ ทีมสหวิชาชีพ รวมทั้งผู้บริหาร/ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และ รพ.สต. ในสังกัด อบจ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ในการดูแลสุขภาพและพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์อยู่เสมอ 2. ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นจุดร่วมสำคัญที่เพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหมด สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญที่ต้องทำ 2) ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ควรทำ และ 3) ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณา ดังรายละเอียดในข้อเสนอเชิงนโยบาย


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6037

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้