ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 302 คน
การจัดทำกลไกการบริหารจัดการและบริการแบบบูรณาการในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง
นักวิจัย :
รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง , อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ , ดาวุด ยูนุช , ต้องการ จิตเลิศขจร , สุทธิ สืบศิริวิริยะกุล , ปนัสยา เทพโพธา , ฉัตรวลี เมธาสถิตย์สุข , เศรษฐการ หงษ์ศิริ , วจิตรวดี พุกทอง ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
10 ตุลาคม 2566

การดำเนินการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอมาตรการนำร่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเขตสุขภาพนำร่อง (Regulatory Sandbox) รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์/ตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการ (2) เพื่อติดตาม (Monitor) การดำเนินการทดลองมาตรการนำร่อง (Sandbox) ในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่องร่วมกับทีมเขตสุขภาพนำร่อง (3) เพื่อประเมินผลการทดลองดำเนินการ Sandbox ในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง (Evaluation) และ (4) เพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเขตสุขภาพให้เป็นไปตามกลไกการบริหารจัดการเขตสุขภาพแบบบูรณาการและร่วมรับผิดชอบ โดยเป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์และสังเคราะห์ (Analytical Research) การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Operation Research) และการวิจัยเชิงประเมินผล (Evaluation Research) โดยมีเขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 เป็นเขตสุขภาพนำร่อง คณะผู้วิจัยร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารระดับเขตสุขภาพ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอ Regulatory Sandbox ในการขับเคลื่อนเขตสุขภาพนำร่อง ประกอบด้วย 5 Sandbox ได้แก่ (1) ภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ (2) กำลังคนด้านสุขภาพ (3) การเงินการคลังสุขภาพ (4) ข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ และ (5) ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนในระดับประเทศ (Big Rock) และคณะผู้วิจัยได้วางกรอบการติดตามประเมินผล โดยได้กำหนดเกณฑ์/ตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการโดยใช้ Objectives and Key Results (OKRs) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติงานไปจนถึงระดับผู้บริหารมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาและแสดงให้เห็นภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมาในจุดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขไปสู่แนวทางการดำเนินงานรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจากการดำเนินการสามารถประเมินผลการทดลองดำเนินการ Sandbox ได้ดังนี้ 1) การติดตามและประเมินผลเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการดำเนินการขับเคลื่อนเขตสุขภาพนำร่อง พบว่า เขตสุขภาพนำร่องมีความคืบหน้าในการดำเนินการบางประเด็น ได้แก่ ด้านภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ ด้านกำลังคนสุขภาพ และด้านการเงินการคลังสุขภาพ โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีตามนโยบายที่ส่วนกลางผลักดันด้านกฎหมายและเขตสุขภาพมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ สำหรับประเด็นด้านข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ พบว่า เขตสุขภาพนำร่อง มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในประเด็นด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสุขภาพยังไม่พบการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายการปฏิรูปที่ชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายในการให้เขตสุขภาพมีการบริหารจัดการภายในเขตสุขภาพเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ อาจสรุปได้ว่า เขตสุขภาพยังคงดำเนินงานได้เพียงช่วงเริ่มต้นและจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันในระดับกระทรวงในการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและบูรณาการนโยบายด้านสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการด้านสาธารณสุขเบ็ดเสร็จภายในเขตได้อย่างแท้จริง 2) การติดตามและประเมินผลเปรียบเทียบความแตกต่างของผลการดำเนินงานระหว่างเขตสุขภาพ นำร่องทั้ง 4 เขต ที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานปฏิรูปโดยมีการกำหนดกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนการทำงาน Sandbox กับเขตสุขภาพอีก 8 เขตที่ไม่ได้มีการใช้ Sandbox ในการสนับสนุนการดำเนินการ พบว่า ด้านภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ: เขตสุขภาพนำร่องสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่เขตสุขภาพอื่นๆ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเขตสุขภาพและคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เขตสุขภาพอื่นๆ มีคณะกรรมการเขตสุขภาพ รวมถึงแผนปฏิบัติการประจำปีของเขตสุขภาพ ที่เป็นแนวทางในการดำเนินการของเขตสุขภาพด้านกำลังคนสุขภาพ: การจัดทำกลไกการบริหารจัดการและบริการแบบบูรณาการในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง ทำให้เขตสุขภาพนำร่องมีเครื่องมือ Sandbox ในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านกำลังคนของแต่ละเขตสุขภาพ ส่งผลให้เขตสุขภาพมีความยืดหยุ่นในการบริหาร/จัดสรรทรัพยากรบุคคลและสามารถบริหารจัดการด้านกำลังคนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการมอบอำนาจด้านกำลังคนจากคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.สธ.) ให้คณะกรรมการอำนวยการเขตบริหารจัดการ ในขณะที่การดำเนินงานของเขตสุขภาพอื่นๆ นั้น ยังคงประสบปัญหาด้านกรอบอัตรากำลังที่ไม่ชัดเจนและไม่ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ด้านการเงินการคลังสุขภาพ: เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ได้มีความพยายามในการบูรณาการงบประมาณร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ ภายในเขตสุขภาพ อาทิ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหางบประมาณดำเนินงานไม่เพียงพอ ทำให้เขตสุขภาพสามารถดำเนินกิจกรรม/โครงการที่มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะของเขตสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเขตสุขภาพนำร่องจะมีเครื่องมือ (Sandbox) ในการบริหารจัดการและบริการแบบบูรณาการในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการให้เขตสุขภาพมีบทบาทในการบริหารจัดการการเงินการคลังเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพนำร่องได้ ด้านข้อมูลและสารสนเทศด้านสุขภาพ: โดยภาพรวมเขตสุขภาพนำร่องมีการดำเนินการที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่าเขตสุขภาพอื่นๆ เนื่องจากมีการพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล พัฒนาระบบข้อมูลในเขตสุขภาพ รวมถึงดำเนินการหรือจัดทำแผนการดำเนินการเรื่อง Digital Transformation ในสถานพยาบาลแล้วในทุกเขตสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เขตสุขภาพไม่นำร่องมีการดำเนินการที่ชัดเจนในเขตสุขภาพที่ 8 โดยมีการจัดทำ R8 Anywhere เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยในเขตสุขภาพ ด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสุขภาพ: เขตสุขภาพนำร่องมีการดำเนินการด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อยกระดับการให้บริการและการบริหารทรัพยากรที่ชัดเจนมากกว่า โดยมีโครงการที่จัดทำในแต่ละเขตมากกว่า อย่างไรก็ตาม เขตสุขภาพไม่นำร่องมีการดำเนินการที่ชัดเจนในเขตสุขภาพที่ 8 อาทิ บริการ One Stop Service การพัฒนาระบบสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังเรือนจำและชาวต่างด้าว อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการสร้างความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังภายในเขตสุขภาพ ทั้งเขตสุขภาพในร่องและเขตสุขภาพไม่นำร่องยังบริหารจัดการภายใต้ทรัพยากรของรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่มีการนำเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งอาจยังไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาความจำกัดของทรัพยากรและสร้างความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังภายในเขตสุขภาพได้ จากการดำเนินการจัดการและการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาตามประเด็นการขับเคลื่อน Sandbox ได้มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการด้านข้อกฎหมาย ทั้งในส่วนของสถานะของสำนักงานเขตสุขภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการเขตสุขภาพ คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการและบริการแบบบูรณาการในเขตสุขภาพสามารถบรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการเขตสุขภาพ ดังนี้ 1) ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ เช่น ดำเนินการจัดทำระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพ เพื่อการปฏิรูปการขับเคลื่อน เขตสุขภาพ พ.ศ. ... และการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพ เพื่อการปฏิรูปการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ พ.ศ. ... เป็นต้น 2) ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านบุคลากร เช่น การบริหารจัดการภายในสำนักงานเขตสุขภาพ การสรรหาและคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ การขอยกเว้นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งของสายงาน เป็นต้น และ 3) ข้อเสนอการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการเงินการคลัง เช่น การกำหนดให้สำนักงานเขตสุขภาพมีหน้าที่ในการบูรณาการการบริหารเงินบำรุงของหน่วยบริการ การบูรณาการแหล่งเงินเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของเขตสุขภาพ เป็นต้น


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5949

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้