ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 269 คน
หลักฐานเชิงประจักษ์ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชนประเทศไทย: การทบทวนวรรณกรรมแบบบูรณาการและการใช้เทคนิคเดลฟาย
นักวิจัย :
ปิ่นหทัย ศุภเมธาพร , ชื่นจิตร กองแก้ว , ศศิมาภรณ์ แหยงกระโทก ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
30 ตุลาคม 2566

บทนำ : โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการป่วยและการตายที่สำคัญของประชากรทั่วโลกและประเทศไทย ความร่วมมือในการรักษาด้วยยามีความจำเป็นต่อการรักษาและควบคุมโรค พบว่า ผู้ป่วยเกินครึ่งไม่สามารถใช้ยาตามแผนการรักษาได้ ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยในมิติของภาวะแทรกซ้อน ทุพพลภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และต่อมิติของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศ องค์ความรู้เกี่ยวกับนิยามความหมายและปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาด้วยยาในภาพรวมของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย ยังพบได้น้อย ปัจจัยที่ศึกษาก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยระดับผู้ป่วย ยังไม่พบการศึกษาปัจจัยเชิงนโยบาย ซึ่งจะส่งผลในภาพกว้างต่อความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยในชุมชนประเทศไทย วัตถุประสงค์เฉพาะ 1) เพื่อสังเคราะห์ความรู้เกี่ยวกับนิยาม ความหมายและปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ 2) เพื่อวิเคราะห์ลักษณะ นิยาม ความหมายของความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในโรงพยาบาลชุมชนสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลจากการหาฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญ วิธีการศึกษา : การวิเคราะห์ลักษณะ นิยาม ความหมายของความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลโดยการทบทวนวรรณกรรมแบบบูรณาการตามแนวทางของ Cooper (2007) นำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาแบบสอบถาม ชุดที่ 1 เกี่ยวกับนิยาม ความหมาย ความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผล แล้วนำไปศึกษาหาฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เทคนิคเดลฟาย รวบรวมความคิดเห็นที่มีความสอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 21 คน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหรือมีส่วนร่วมหรือรับผิดชอบกำกับดูแลด้านนโยบายที่เกี่ยวกับยาและการใช้ยา จำนวน 5 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการสนองตอบนโยบายที่เกี่ยวกับยาและการใช้ยา จำนวน 12 คน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการ จำนวน 4 คน เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น 2 รอบ ซึ่งรอบที่ 2 ใช้แบบสอบถามฉบับเดิม แต่เพิ่มค่ามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์และตำแหน่งที่ผู้เชี่ยวชาญตอบในรอบที่ 1 ของข้อคำถามแต่ละข้อ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทราบคำตอบของตนเองและของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ก่อนทบทวนคำตอบของตนเองเพื่อยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงคำตอบ นำแบบสอบถามรอบที่ 1 และ 2 มาวิเคราะห์ค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ โดยพิจารณาคำตอบของผู้เชี่ยวชาญมีความสอดคล้องกัน คือ ค่ามัธยฐานตั้งแต่ 3.5 ขี้นไป และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ไม่เกิน 1.5 การเปลี่ยนแปลงคำตอบของผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 12.02 แสดงว่าผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็น เป็นฉันทามติ ผู้วิจัยจึงยุติการส่งแบบสอบถามและสรุปผลการวิจัย ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลรอบที่ 1 ตั้งแต่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึง 18 มีนาคม พ.ศ. 2566 และรอบที่ 2 ตั้งแต่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566 ถึง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ผลการศึกษา 1) นิยาม ความหมายของความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชนประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าเกี่ยวข้องมากถึงมากที่สุด และมีความสอดคล้องกัน ทั้ง 6 ด้าน 18 ข้อรายการ ( MD = 3.77-4.88, IR = 0.61-1.38) 2) นโยบายด้านยาของประเทศ ทั้งนโยบายแห่งชาติด้านยาและบัญชียาหลักแห่งชาติ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นโยบายและระเบียบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและค่ายาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลต่อการบริหารจัดการยารักษาโรคเรื้อรังและการสั่งจ่ายยารักษาโรคเรื้อรังของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าส่งผลมากถึงมากที่สุด และมีความสอดคล้องกัน ทั้ง 2 ด้าน 8 ข้อรายการ (MD = 3.78-4.63, IR = 0.94-1.41) 3) นโยบายให้ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังมารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบันประเภท 1 ใกล้บ้าน ส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนและร้านขายยาในโครงการ ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าส่งผลมากและสอดคล้องกันทั้ง 6 ด้าน 16 ข้อรายการ ( MD = 3.68-4.12, IR = 0.61-1.26) และ 4) ปัจจัยนโยบายแห่งชาติด้านยาและบัญชียาหลักแห่งชาติ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และนโยบายและระเบียบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาและค่ายาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ส่งผลต่อความร่วมมือในการรักษาด้วยยาของผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าทั้ง 18 ข้อรายการ ส่งผลระดับต่ำกว่าระดับมากและความเห็นไม่สอดคล้องกัน


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5955

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้