ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

ปัจจัยจากระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว

Title:             ปัจจัยจากระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว
Authors:       ทัยรัตน์ โกษียาภรณ์ และคณะ
Issue Date:   Nov-2020
Publisher:    สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

Abstract

ปัญหาสุขภาพของคนต่างด้าวเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยคนต่างด้าวมักมีปัญหาในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการได้รับการบริการสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากปัจจัยทางด้านความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ประเทศไทยมีการดำเนินการโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาการบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เป็นมิตร (migrant-friendly service) มาอย่างยาวนาน ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้เป็นบุคลากรหลักในการสื่อสารข้อมูลสุขภาพไปยังคนต่างด้าวและสามารถทำให้เกิดการพัฒนาสถานะสุขภาพคนต่างด้าวได้ ความรอบรู้ทางสุขภาพจึงเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติงานของพสต.และอสต. แต่ทว่าการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อระดับความรอบรู้สุขภาพของแรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่เป็นวิจัยในต่างประเทศและไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่ม พสต. และอสต. ด้วยเหตุนี้คณะผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรอบรู้สุขภาพในกลุ่มพสต. และอสต. โดยเฉพาะการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้พสต. และอสต. เป็นบุคลากรที่มีความรอบรู้สุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาสถานะสุขภาพในประชากรต่างด้าวได้ต่อไป

งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมคู่ขนาน (parallel mixed method design) ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดระนอง การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) และวิธีสโนว์บอล (snowball sampling) ในกลุ่มพสต. และอสต. เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ดูแลพสต. และอสต. ทั้งจากภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้บริหารหน่วยบริการสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้กำหนดนโยบายจากกระทรวง ร่วมกับการทบทวนเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้วิธีแก่นสาระแบบนิรนัย (deductive thematic analysis) ส่วนการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจะใช้แบบสอบถามสำรวจในกลุ่ม พสต. และอสต. รวมถึงแรงงานต่างด้าวทั่วไป จำนวน 235 คน ใช้วิธีการสำรวจพสต. ทุกคนในพื้นที่ ส่วนอสต. ในจังหวัดสมุทรสาคร เน้นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนจังหวัดระนอง เน้นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรพัฒนาเอกชน และสุ่มเลือกคนต่างด้าวทั่วไปในละแวกบ้านของพสต.และอสต. อย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละพื้นที่ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ t-test, ANOVA และ multiple regression

ผลการศึกษา พบว่า พสต. มีความรอบรู้สุขภาพมากกว่าแรงงานต่างด้าวทั่วไป ซึ่งน่าจะมาจากการมีกระบวนการอบรมและดูแลติดตามที่เข้มข้นกว่า รวมถึงโอกาสในการได้รับข้อมูลสุขภาพจากเจ้าหน้าที่มากกว่า การดำเนินการที่ผ่านมามีจุดเด่นในเรื่องของการมีหลักสูตรกลางที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขและการสนับสนุนสื่อในการพัฒนาขีดความสามารถของพสต. และ อสต. ในบางหน่วยงานกระบวนการคัดเลือกก็จะเลือกพสต. และ อสต. จากแรงจูงใจในการทำงานที่ไม่ใช่ตัวเงินร่วมด้วย เช่น ความเป็นจิตอาสาและความต้องการที่จะมีความรู้ด้านสุขภาพ สำหรับจุดที่ต้องพัฒนาในการดำเนินการ คือ ความไม่แน่นอนของงบประมาณในการสนับสนุนการทำงานของพสต.และอสต. และการขาดระบบการติดตามและประเมินผลขีดความสามารถของพสต.และ อสต. ข้อสรุปเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ประการแรก ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขพึงกำหนดให้มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งงบประมาณในการจ้างพสต. และการพัฒนาขีดความสามารถของพสต. และอสต. ประการที่สอง คือ กำหนดขีดความสามารถขั้นพื้นฐานที่พสต. และอสต. ควรมี เช่น ทักษะด้านภาษาความเข้าใจศัพท์ทางการแพทย์ ทักษะการสื่อสาร ความเข้าใจความแตกต่างเรื่องสังคมวัฒนธรรม และความรอบรู้สุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่ระบบ การพัฒนากระบวนการอบรม รวมถึงติดตามเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลน พสต. และเพิ่มความยั่งยืนของระบบ เช่น สนับสนุนการจ้างงานพสต. ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงจากประเทศต้นทางและประการสุดท้ายควรให้ความสำคัญกับแรงจูงใจที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในการจูงใจให้พสต. และอสต. อยู่ในระบบ เช่น การได้รับการยอมรับในชุมชน การให้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ และการส่งเสริมให้พัฒนาขีดความสามารถตนเองได้ เช่น การเปิดโอกาสให้พสต. และอสต. เข้ารับการอบรมต่อ จนพัฒนาเป็นบุคลากรสุขภาพในระดับสูงขึ้นไปได้ เพื่อให้บุคลากรสามารถอยู่ในระบบได้มั่นคงขึ้นและลดช่องว่างในการสื่อสารข้อมูลสุขภาพ นำไปสู่การพัฒนาสถานะสุขภาพของแรงงานต่างด้าว

Download :       hs2534.pdf  สมัครสมาชิกก่อนดาวน์โหลด (signup free)

(สมัครสมาชิกได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/register-hsri)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้