ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

ครบ 1 ปี ความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ไทย – สหราชอาณาจักร ไทย ผ่านครึ่งทางถอดรหัสพันธุกรรม 27,000 ราย ใช้เป็นฐานข้อมูลต่อยอดวิจัยพัฒนา ยกระดับอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์

          วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พร้อมด้วย ดอกเตอร์คอลิน วิลสัน หัวหน้าฝ่ายงานด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้า สำนักชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม และนายเจมส์ ดูบอฟ ผู้อำนวยการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ องค์กร Genomics England  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นางสาวบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและสหราชอาณาจักร ร่วมในงาน “ฉลองครบรอบ 1 ปี การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคม แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ” ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตอังกฤษ โฟร์ซีซั่นส์ เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ
   
          นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในนามกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ขอร่วมแสดงความยินดีในการเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปี ของการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งครบรอบไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือ ในด้านวิชาการทางการวิจัย และการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้การแพทย์จีโนมิกส์ หรือการแพทย์แม่นยำ เป็นการให้บริการทางการแพทย์ที่มีการนำข้อมูลพันธุกรรมมาใช้ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่จำเพาะของผู้ป่วยแต่ละราย มาใช้ในการวินิจฉัย และวางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการเจ็บป่วย ตลอดจนสามารถใช้ตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต รวมถึงป้องกันความพิการ และพัฒนาการช้าของเด็กที่เกิดใหม่ เรียกได้ว่า การแพทย์จีโนมิกส์สามารถดูแลสุขภาวะของประชาชน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เป็นทารก จนโต และเสียชีวิต
   
          “กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายสาธารณสุข ไว้ว่า สธ. มีภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมายของการพัฒนา จะมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ โดยการพัฒนาในช่วง 20 ปี ข้างหน้า จะมุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และนําเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้และต่อยอดภาคการผลิต และบริการในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่ม” รมช.สธ. กล่าว 

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการแพทย์จีโนมิกส์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศต่างๆ ได้นำมาประยุกต์ใช้กับการรักษาที่สำคัญ เช่น โรคมะเร็ง โรคที่วินิจฉัยยาก โรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์จีโนมิกส์สามารถนำมาใช้ในการสืบสวนสายพันธุ์ การศึกษาวิวัฒนาการก่อโรคและการกลับมาป่วยซ้ำ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านนี้ และสนับสนุนให้มีการถอดรหัสพันธุกรรมชาวไทย จำนวน 50,000 ราย เพื่อใช้เป็นฐานต่อยอดในการให้บริการทางการแพทย์ที่จะมีความแม่นยำเฉพาะบุคคลได้มากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงพร้อมที่จะสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ สามารถผลักดันผลการศึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็งเต้านมและรังไข่ในผู้ป่วยและเครือญาติ จนได้รับการบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเปิดให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 80 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา 

          “ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และความต้องการการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเข้ากับบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้ ขณะที่ประเทศไทยยังมีศักยภาพของการเป็น Medical Tourism ที่เข้มแข็ง และมีที่ตั้งในศูนย์กลางของภูมิภาค รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระดับนานาชาติ ขณะที่ภาครัฐและเอกชนก็มีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ จึงถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่จะต้องร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและดูแลสุขภาพ (Medical hub) ในระดับอาเซียนต่อไป” รมช.สธ. กล่าว

          ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทย ภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ไปกว่า 27,000 รายแล้ว ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทยขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่พร้อมจะนำไปใช้ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพของประเทศ ก้าวไปสู่การแพทย์สมัยใหม่ ทั้งนี้จากความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจฯ จะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในด้านวิชาการ ทั้งการวิจัย การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนด้านเทคโนโลยีจีโนมิกส์ เนื่องจากจีโนมิกส์ในสหราชอาณาจักรได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติในด้านที่สามารถผลักดันให้เทคโนโลยีนวัตกรรมด้านการแพทย์จีโนมิกส์เกิดการใช้งานในระบบสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีแหล่งข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลทางคลินิกที่เปิดให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงและนำไปใช้สำหรับการวิจัยเชิงลึกเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม เป็นต้น 
   
          ทั้งนี้ ความก้าวหน้าจากความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มีการดำเนินงานด้านจีโนมิกส์ภายใต้ร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ได้แก่ การประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือ ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน และหาแนวทางความร่วมมือในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และระบบบริการการแพทย์จีโนมิกส์ การส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมวิชาการ International Genomics Education and Training Summit ซึ่งจัดโดยสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาความสามารถของบุคลากรทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการอบรมด้านจีโนมิกส์  และการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการบริหารจัดการข้อมูลจีโนมขนาดใหญ่ จากประสบการณ์ของสหราชอาณาจักรสู่การปรับใช้ในประเทศไทย ทั้งในด้านการบริหารจัดการข้อมูล การเข้าถึง และการนำไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมิกส์ประเทศไทย เพื่อการพัฒนามาตรฐานข้อมูลจีโนมของไทย วันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ 

          ด้าน นายมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สหราชอาณาจักรและประเทศไทย ได้สร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในด้านจีโนมิกส์ ซึ่งการดำเนินการร่วมกันได้ครบรอบหนึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่มีการลงนามความร่วมมือฯ โดยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้จากที่ประเทศไทยได้มีการผลักดันไปสู่การดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิด ให้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจการบริการตรวจสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และมั่นใจว่ายังจะมีข้อเสนออีกมากมายจากโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยที่จะสร้างคุณูปการอื่นๆ ให้เกิดขึ้นในระยะถัดไปจากนี้ 

          “นอกจากความร่วมมือด้านจีโนมิกส์แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ สหราชอาณาจักร ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี แห่งสหราชอาณาจักร โดยพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยมีส่วนร่วมในกองทุนฯ อย่างเต็มที่ เพื่อใช้ประโยชน์จากความร่วมมือบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศและทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน” เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าว

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้