4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. เปิดเวทีระดมความเห็นเครือข่ายนานาชาติ เร่งผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพ บนฐานงานวิชาการ เพื่อการเข้าถึงและเป็นธรรมทางสุขภาพของประชากรข้ามชาติ

          ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2567 หรือ Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก “ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงของมนุษย์ และความเสมอภาคทางสุขภาพ ในยุคแห่งวิกฤตการณ์หลากมิติ: Geopolitics, human security and health equity in an era of polycrises ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 ม.ค. 2567 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดประชุมวิชาการย่อย (side meeting) หัวข้อ “Strategies to Address Health Inequity and Promote Inclusive Health Systems for Migrants: Lessons from Malaysia, Singapore, and Thailand, with Potential Applications to Other Countries” ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการกับความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพและการส่งเสริมระบบสุขภาพแบบครอบคลุมสำหรับผู้ย้ายถิ่น: บทเรียนจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นๆ 

          ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนองานวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องประชากรข้ามชาติ/ผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งไทยและต่างประเทศ จากหน่วยงานด้านสุขภาพ และหน่วยงานด้านอื่นๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข IOM องค์การอนามัยโลก (WHO) UNHCR กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ จำนวนกว่า 50 คน เมื่อวันที่ 
23 ม.ค. 2567 ณ ห้องบอลลูม B โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวช่วงเปิดการประชุมว่า ช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติที่จะสามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมทุกลุ่มประชากรบนแผ่นดินไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ควรมีการยื่นข้อเสนอเรื่องการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/
ผู้ย้ายถิ่น และให้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกมากขึ้น อีกทั้งความยั่งยืนของการจัดหาเงินทุนด้านการรักษาพยาบาลและการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งต่างๆ ควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ส่วนในเรื่องของการประเมินสุขภาพเบื้องต้นและการเข้าถึงด้านสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ทั้งจากตัวแทนชุมชนที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เป็นต้น โดยเน้นย้ำในเรื่องของการสื่อสารความเสี่ยงของสุขอนามัยและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่อ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ 

          “การทำงานด้านสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น เปรียบเหมือนการเดินทางที่ยาวนาน แต่ที่ผ่านมาก็เห็นถึงความพยายามในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น โดยการระดมความคิดเห็นจากการประชุมฯ จะเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละเครือข่ายหยิบยกประเด็นร่วมที่มีความสำคัญ เพื่อการพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว 

          ด้าน นางสาวบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย และผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. กล่าวว่า การดำเนินงานในระยะแรกของแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ อย่างเช่นงานวิจัยของ สวรส. ที่นำเสนอในการประชุมฯ เรื่องการประเมินระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ: บทเรียนประเทศไทยและการปรับใช้กับประเทศในอาเซียน เป็นงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์และขีดความสามารถ รวมถึงจุดแข็งและโอกาสหรือความท้าทายในการจัดระบบบริการสุขภาพให้กับประชากรข้ามชาติของประเทศไทย ซึ่งความท้าทายที่ยังเป็นโจทย์สำคัญ เช่น ปัญหาด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพ, ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดการของภาครัฐ, การบูรณาการฐานข้อมูลประชากรข้ามชาติให้เป็นหนึ่งดียว ฯลฯ ส่วนการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส. มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ/ผู้ย้ายถิ่น โดยเฉพาะการพัฒนาให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมและเป็นธรรม ตามหลักมนุษยธรรมและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สวรส. คาดว่าจะจัดการประชุมเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ ทั้งไทยและต่างประเทศในลักษณะนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการระดมความคิดเห็นที่สามารถนำไปพัฒนาเชิงระบบของแต่ละประเทศได้ นอกจากนี้ความคิดเห็นจากการประชุมดังกล่าว สวรส. จะรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้