ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

ทบทวน 1 ปี ‘ถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ.’ สำรวจเส้นทาง ปัญหา ความท้าทาย และก้าวต่อไปด้วยเข็มทิศจากงานวิจัย

          ช่วงเดือนนี้ของปีที่แล้วถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการปรับโฉมระบบสาธารณสุขปฐมภูมิของไทย เนื่องจากได้กลับมาเดินหน้าถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกครั้ง หลังสะดุดและหยุดชะงักไปบางช่วง ฉะนั้นในวาระครบขวบปีของการถ่ายโอน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาโนบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็น “1 ปี รพ.สต. ในมือ อบจ. กับก้าวต่อไปในอนาคต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “ผลกระทบของการกระจายอำนาจ รพ.สต. สู่ อปท. ต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิ: กรณีศึกษานโยบายสามหมอ ใน 5 จังหวัด” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจาก รพ.สต., อบจ.,  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.), สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.), ผู้อำนวยการโรงพยาบาล, นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้แทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายก อบจ. กาญจนบุรี ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ (ประตูน้ำ)

          ทั้งนี้ผลการวิจัยในภาพรวมพบว่า จำนวนเฉลี่ยของประชาชนที่รับบริการด้านสุขภาพที่ รพ.สต. มีจำนวนลดลงเล็กน้อย ขณะที่จำนวนผู้รับบริการที่โรงพยาบาลระดับอำเภอมีมากขึ้นเล็กน้อย ส่วนบริการที่พบว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริการด้านทันตกรรม ซึ่งพบว่า รพ.สต. หลายแห่งต้องหยุดให้บริการด้านทันตกรรมแก่ประชาชน เนื่องจากไม่มีทันตแพทย์ประจำ ซึ่งก่อนการถ่ายโอนฯ การให้บริการด้านทันตกรรมจะได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ส่งทันตแพทย์ไปออกหน่วยให้บริการและกำกับดูแลการทำงานของทันตาภิบาลที่อยู่ประจำ รพ.สต. แต่ภายหลังการถ่ายโอนฯ พบว่า ความร่วมมือในเรื่องนี้ขาดหายไป เนื่องจาก รพ.สต. ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่ากลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) และกลไกขับเคลื่อนงานสุขภาพระดับอำเภอ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ CUP และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ยังไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปาฐกถาในหัวข้อ “รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข สู่ อบจ. เดินทางอย่างไรให้มั่นคง” โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ถ้านับว่า สอน. หรือ รพ.สต. เป็นตัวแทนของสถานบริการปฐมภูมิ ประเทศไทยก็มีประมาณ 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ แม้ว่าขณะนี้ 46% สังกัดอยู่กับ อบจ. และอีก 54% สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ถ้าจัดการไม่ดีก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เนื่องจากเป็นการถ่ายโอนฯ ที่เป็นลักษณะของความสมัครใจ อีกทั้งแนวคิดของผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายถ่ายโอนและรับถ่ายโอนจำนวนไม่น้อยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

          “ทว่า สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันคือ เมื่อมีแผน และให้ดำเนินการตามแผน จำเป็นต้องมีติดตามและประเมินผล เพื่อการกำกับมาตรฐานและคุณภาพบริการสุขภาพ รวมถึงหากมีปัญหาจะได้แก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงจุดและทันท่วงที แต่กลไกไหนจะเป็นคำตอบ และมีส่วนหนึ่งเสนอว่าควรใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) 
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับกลไกดังกล่าว และหาหรือเพื่อมีการจัดการให้เป็นระบบ” นพ.ศุภกิจ กล่าว 
   
          ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวอีกว่า เชื่อว่าเส้นทางการถ่ายโอน คงจะมีการถ่ายโอนไปเรื่อยๆ เพราะข้อมูลล่าสุดในปี 2567 ก็จะมีอีกราว 900 แห่ง และปี 2568 ก็คงมีต่อๆ ไป ระหว่างนี้จึงอยากฝากกระทรวงสาธารณสุขว่า ในส่วน บทบาทของ สสอ. จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาเป็นกลไกในการติดตามงานในระดับอำเภอ และแน่นอนว่าไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา แต่เป็นการช่วยกันคิดและวางแผน เพื่อควบคุมและพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน สำหรับ สวรส. พร้อมสนับสนุนอีกส่วน ในการคาดการณ์ผ่านงานวิจัย/วิชาการว่าในอนาคตจะเกิดอะไร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานเชิงระบบได้ เช่น ในอนาคตหาก อบจ. จะมีการจัดซื้อยาเอง ควรต้องเตรียมระบบอะไรบ้าง ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตั้งเป้าหมายและเดินหน้าไปด้วยกัน ตลอดจนช่วยกันพัฒนากลไกที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้การถ่ายโอน รพ.สต. เดินต่อไปได้ โดยมีประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง 

          นอกจากนี้ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจจากเวทีเสวนา อาทิ สิ่งสำคัญในการถ่ายโอนฯ คือแนวความคิด (Mindset) ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข ที่จำเป็นต้องยึดประชาชนเป็นสำคัญ, การถ่ายโอน รพ.สต. ที่บุคลากรไม่ถ่ายโอน นับเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางงบประมาณของประเทศ เนื่องจากบุคลากรเดิมก็ยังต้องจัดสรรที่อยู่ให้ ขณะที่กรอบอัตรากำลังใหม่ก็ต้องหาบุคลากรมาเพิ่มเติม เพื่อให้การให้บริการประชาชนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ, การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการถ่ายโอนฯ ควรเลือกช่วงเวลาในการศึกษาที่เหมาะสม เนื่องจากหากศึกษาเร็วไปอาจทำให้ไม่ได้คำตอบที่แท้จริง, ยังขาดการศึกษาวิจัยบทบาทของ พชอ. ภายใต้บริบทหลังการถ่ายโอนฯ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในระดับอำเภอ ฯลฯ 

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้