ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

สวรส.ระดมการมีส่วนร่วม “สธ.-อปท.” พร้อมหน่วยงานหลัก ร่วมพัฒนาคุณภาพวิจัย สู่ข้อเสนอเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริการปฐมภูมิ หลังถ่ายโอน

          สถานการณ์การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขในขณะนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่เกิดคู่ขนานมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง คือปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงโอกาสของการพัฒนาครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาทบทวนและร่วมกันทำงานพัฒนาหรือแก้ปัญหาไปด้วยกัน บนเป้าหมายของการที่ “ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ” 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทของการสร้างและจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ โดยในสถานการณ์การถ่ายโอนครั้งนี้ สวรส. มีบทบาทในการสนับสนุนการถ่ายโอนให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการพัฒนาและแก้ปัญหาประเด็นต่างๆ ทั้งคน ระเบียบ การเงิน ฯลฯ ตามลำดับความสำคัญหรือความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วยวิถีทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เหมาะสมในการดูแลประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สวรส. ได้จัดเวทีการแลกเปลี่ยนพูดคุย ตลอดจนการขับเคลื่อนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สวรส. ได้จัดการประชุมพัฒนางานวิจัยและสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งฟากกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงจรของการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิ เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพงานวิจัย ตลอดจนข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าร่วมที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ อาทิเช่น นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่ อปท., นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ, นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายกสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว, นางเสาวณีย์ อุ่ยตระกูล ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง, นางจีรวรรณ หัสโรค์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ภญ.ดร.พรทิพย์ เจียมสุชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ดร.ภูนท 
สลัดทุกข์ รักษาการเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ฯลฯ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ณ โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต รวมกว่า 80 คน
 
          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในกรณีการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ กระบวนการสนับสนุนงานวิจัยแต่ละโครงการของ สวรส. เน้นการติดตามและสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายวิชาการ ตลอดจนฝ่ายปฏิบัติ ในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการทำวิจัย เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปต่อยอดให้ใช้ได้จริง 

          “งานวิจัยต้องนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่แก้ไขปัญหาเชิงระบบที่คมชัด จับต้องได้ หรือมีสิ่งส่งมอบ เช่น หลักสูตร คู่มือ แนวทาง มาตรการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แต่ละแห่งที่รับถ่ายโอน กระทรวงสาธารณสุขหรือคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุข สามารถนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งการทำวิจัยไม่ใช่การที่บอกว่า การถ่ายโอนดีหรือไม่ดี แต่งานวิจัยจะสามารถเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งบอกถึงสัญญาณแจ้งเตือนให้กับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง พร้อมบอกแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หาก อบจ. เข้ามาทำให้ระบบบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพของประชาชน สามารถดำเนินงานภายใต้หลักการสร้างนำซ่อมที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ต้องไปรับบริการในระดับทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ ซึ่งนั่นคือ การลดอัตราการป่วย การนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตได้ โดยการประชุมเพื่อพัฒนางานวิจัยและสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในครั้งนี้ นับเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีเป้าหมายสำคัญคือ งานวิจัยต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยต้องชัดเจนว่าหน่วยงานใด ควรดำเนินการอะไร อย่างไร เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ฯ เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ดีมากยิ่งขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว

          สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีโครงการวิจัย 3 โครงการที่นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น ได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการจัดการสุขภาพชุมชน หลังการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ เพื่อถอดบทเรียน ศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชน และศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัย ศักยภาพและการมีส่วนร่วมของ อสม. ในการจัดการสุขภาพชุมชน 2) ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดบริการใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. เพื่อถอดบทเรียนและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการจัดบริการใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัด อบจ. 3) ประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบบริการด้านยาและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพของ รพ.สต. เพื่อประเมินสถานการณ์ ประสิทธิภาพ และความพร้อมในการสร้างประสิทธิภาพของการบริหารจัดการระบบบริการด้านยา และงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพของ รพ.สต. ที่สังกัด อบจ. ตลอดจนระบุปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพ และศึกษาระบบการป้องกันความคลาดเคลื่อนทางยา 

          ทั้งนี้ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะ มีความเห็นหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การสรุปผลการวิจัยควรวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกลงไปถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำอะไร อย่างไร, แหล่งที่มาของข้อมูลควรครอบคลุมการถ่ายโอนทุกกรณี ทั้ง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปแล้ว ยังไม่ได้ถ่ายโอน และถ่ายโอนไปบางส่วน เพื่อการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน, บางเรื่องที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจต้องตระหนักถึงบริบทเบื้องหลังสิ่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งการจะบอกผลว่าดีขึ้นหรือแย่ลงควรพิจารณาบริบทและข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งในระดับจังหวัดและตำบล ควรมีการสร้างคลังสมองโดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และ สวรส. อาจสนับสนุนองค์ความรู้จากงานวิจัยเผยแพร่ให้กับท้องถิ่นได้นำไปศึกษาและใช้ประโยชน์, การบริหารจัดการระบบจัดซื้อยา ควรมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจนว่า อบจ. ควรหรือไม่ควรจัดซื้อยาเอง ด้วยเหตุผลอย่างไร, ควรให้ความสำคัญกับระบบการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการดูแลต่อเนื่องในชุมชน, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับ mind set โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ เน้นคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ, การเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ผู้คนที่เกี่ยวข้องจะรู้สึกมีพลัง เราควรฉวยโอกาสในจังหวะนี้ในการพัฒนาเรื่องที่ทำอยู่ ทำให้ดีกว่าเดิม และเป็นโอกาสในการพัฒนาเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ, การดำเนินงานของ รพ.สต. ควรมีการทำมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อยังคงประสิทธิภาพและเป็นแนวทางให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหลักมาดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. เป็นต้น

 

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้