ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

เครือข่ายภาคีโชว์กลยุทธ์ “ขับเคลื่อนวิจัยคลินิก-สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ” ยกระดับ 30 บาทพลัส

          เป้าหมายหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ ภายใต้ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข คือการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพ โดยเรื่องนี้ได้รับการบรรจุเป็น 1 ใน 13 ประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายหลัก ‘ยกระดับ 30 บาทพลัส’ (1) สำหรับเศรษฐกิจสุขภาพบนความมุ่งหวังของกระทรวงสาธารณสุขคือการก้าวไปสู่การสร้างความมั่งคั่ง (Health for Wealth) โดยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2560-2569) ที่ระบุถึงเป้าหมาย 4 ด้านหลัก ได้แก่
 
1) ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 
2) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ
3) ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ
4) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (2)
 
ซึ่งงานวิชาการหรืองานวิจัยเป็นส่วนสนับสนุนและเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงที่สำคัญ โดยการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) นับเป็นจุดคานงัดของการต่อยอดไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสุขภาพได้

          ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับการวิจัยทางคลินิกที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น เครือข่ายศูนย์วิจัยทางคลินิกแห่งชาติ (Network of Clinical Research Center: Network of CRC) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีการจัดการประชุมวิชาการของเครือข่ายศูนย์วิจัยคลินิก (National Clinical Research Network (NCRN) conference 2023) ภายใต้หัวข้อ ‘Moving Thailand towards Asian Clinical Research Hub’ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อเสวนาวิชาการที่น่าสนใจ Strategic Plans to Drive Innovation & Clinical Research : Perspective from Granters and Thai FDA สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและโอกาสของการทำวิจัย ตลอดจนแนวทางการตั้งโจทย์งานวิจัยที่สังคมต้องการ รวมถึงมุมมองจากองค์กรผู้สนับสนุนทุนวิจัย ท่ามกลางความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ร่วมฟังการเสวนากว่า 150 คน เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ 

          ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวในวงเสวนาว่า ทุกวันนี้สามารถแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) งานวิจัยที่พัฒนาระบบบริการเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มจำนวนเทคโนโลยี นวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมสมัยใหม่ 2) งานวิจัยที่พัฒนาระบบสุขภาพในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพและภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มุ่งไปเรื่องนโยบาย มาตรการที่ประกาศใช้ในระดับประเทศหรือระดับพื้นที่ เพื่อรับมือกับปัญหา 3) งานวิจัยที่พัฒนาความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการจากระบบสุขภาพแบบบูรณาการ ซึ่งในส่วนของนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ประกอบด้วย 1) Sustainable Innovation หรือนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริการเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ ที่ต่อมามีการยกระดับและพัฒนาเป็นเครื่อง CT Scan และเครื่อง MRI โดยงานวิจัย Sustainable Innovation เป็นงานวิจัยที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะเดียวกันผู้รับบริการก็ต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่สูงตามไปด้วย ฉะนั้นหากทำวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมในเรื่องนี้ นักวิจัยต้องคำนึงถึงการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งหน่วยให้ทุนวิจัยต้องบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ดังกล่าว 2) Disruptive Innovation คือการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งลงทุนไม่มากและเป็นลักษณะของการค่อยๆ พัฒนา เน้นตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม เช่น การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในช่วงแรกของการระบาด ประชาชนต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการรอรับการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการต่างๆ แล้วจึงมีการพัฒนาเป็นชุดตรวจ ATK ที่ง่ายและสะดวกขึ้น หรือแม้แต่การแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine การรับยาที่ร้านยาแทนโรงพยาบาล เหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์และทำให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศดีขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ 

          ดร.ภญ.นพคุณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่แหล่งทุนวิจัยต้องการ คือโจทย์วิจัยที่ตอบความต้องการของประเทศ และมีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัย เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สเกลใหญ่ขึ้น นอกจากนี้นักวิจัยหรือนักนวัตกรที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ควรมุ่งเป้าไปที่งานวิจัยที่มีผลกระทบสูง ซึ่ง สวรส. ในฐานะหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศ คำนึงถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ และพยายามผลักดันให้เกิดงานวิจัยที่ส่งผลให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

          ทั้งนี้ในเวทีฯ ยังมีหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยนวัตกรรมร่วมให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับทิศทางการสนับสนุนทุนและภารกิจสำคัญของแต่ละองค์กร อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ โดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) TCELS ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจหลักของ TCELS คือหนุนเสริมมิติของธุรกิจ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีการวิจัยที่สามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และการให้บริการทางวิชาการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ในด้านการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ TCELS จะสนับสนุนนวัตกรรมหรืองานวิจัยที่ผ่านการทดสอบแล้ว จนได้ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) 7-9 ตามเป้าหมายของแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 - 2570 

          สุดท้ายด้าน พญ.ขวัญชนก ยิ้มแต้ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย ได้กล่าวถึงทิศทางการสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ว่า หน่วยงานที่เป็นแหล่งทุนหลักคือ สวรส. ซึ่งเป้าหมายของ สวรส.ที่มุ่งเน้นการให้บริการในระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับสนับสนุนให้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับการบริการให้ดีขึ้นนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากต่อระบบบริการสุขภาพ แต่หากมองด้านการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนในงานวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและยกระดับงานวิจัยเป็นเชิงพานิชย์ ต้องอาศัยกำลังจากภาคเอกชนร่วมด้วย เพื่อทำให้เกิดเป็นอุตสากรรมด้านการแพทย์ ซึ่ง สวรส. อาจต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนหรือเครือข่ายภาคีในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น   

..............................
 
ข้อมูลจาก

 

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้