ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

สวรส. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “วิจัยโรคเบาหวาน” ในเวทีประชุมวิชาการ 30 ปี ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หัวข้อ “Autoimmunity in Diabetes: from Research to Clinical Application”

ในการประชุมวิชาการ 30 ปี ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านวิจัยและวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องโรคเบาหวาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ งานวิจัย และการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ตลอดจนการเผยแพร่ความก้าวหน้าทางด้านวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วย และการต่อยอดในการพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งในเวทีประชุมวิชาการดังกล่าว ได้มีการบรรยายหัวข้อที่เป็นองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2 หัวข้อ ได้แก่ เรื่อง “Autoantibodies in type 1 diabetes: Beyond a simple count to risk prediction” โดย ผศ.ดร.วทิพย์ ตั้งจิตติโภคิณ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ เรื่อง “การศึกษาวิทยาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี ในประเทศไทย” โดย ศ.นพ.ณัฐเชษฐ์ เปล่งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทั้งนี้การจัดประชุมวิชาการฯ เป็นรูปแบบ Hybrid โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นคณาจารย์จากสถาบันต่างๆ บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 150 คน

          ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ร่วมบรรยายเรื่อง งานวิจัยมุ่งเป้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยช่วงหนึ่งกล่าวว่า การรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยการรักษาทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้ป่วยให้มาร่วมกันและเป็นส่วนหนึ่งในระบบการดูแลรักษาโรคด้วย โดยดึงผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกาย การลดอาหารหวานมันเค็ม ต้องช่วยกันทั้งครอบครัวและชุมชน เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลกับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งถ้าทุกฝ่ายช่วยกันก็จะส่งผลให้การรักษาเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม และสามารถควบคุมโรคได้ รวมถึงควรมีการจัดการระบบอื่นๆ หนุนเสริมด้วย ทั้งการมีหมอครอบครัว การดูแลโดยชุมชน ระบบบริการปฐมภูมิ ฯลฯ นอกจากนี้ ควรมีรูปแบบใหม่ๆ ในการสื่อสารหรือการให้แรงจูงใจกับทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่ป่วย ไม่ว่าจะเป็น การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่ปัจจุบันมีอิทธิพลและสามารถเปลี่ยนความคิด สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทรงพลัง โดยนำมาเป็นช่องทางในการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามานำความรู้ที่ถูกต้องไปถ่ายทอดด้วยรูปแบบใหม่ๆ , การให้แรงจูงใจกับคนที่ดูแลสุขภาพ เช่น การลดหย่อนภาษี ฯลฯ เนื่องจากการใช้รูปแบบเดิมๆ ไม่น่าจะตอบโจทย์ และไม่สามารถส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

          “นอกจากงานวิจัยเชิงระบบแล้ว สวรส. ยังสนับสนุนงานวิจัยเชิงคลินิก รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากแต่ต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้เลย เช่น การค้นพบภูมิคุ้มกันที่เป็นตัวบ่งชี้ในการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งถ้าผลจากการค้นพบมีหลักฐานทางวิชาการยืนยันชัดเจน สวรส.จะนำองค์ความรู้ไปพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยผลักดันเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชน และนำไปสู่การเกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยโรคเบาหวานลดลง และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเบาหวานมากขึ้น” นพ.นพพร กล่าว

          สำหรับงานวิจัยของ สวรส. ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการฯ ได้สะท้อนข้อมูลสำคัญว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานที่มีการวินิจฉัยเมื่ออายุน้อย โดยเฉพาะก่อนอายุ 30 ปี  ทั้งนี้โรคเบาหวานชนิดที่พบมากในคนอายุน้อยได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีปัจจัยส่งเสริมจากการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนในวัยรุ่น โดยในประเทศไทยพบการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กช่วงอายุ 0-15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 0.2 ต่อ 100,000/ปี ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 1.65 ต่อ 100,000/ปี ในปี พ.ศ. 2538  ทั้งนี้โครงการวิจัยได้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายและทำการวิจัยแบบสหสาขาในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยโรคก่อนอายุ 30 ปี โดยมีการจัดทำทะเบียนผู้เป็นโรคเบาหวานในโรงพยาบาลทั้งหมด 40 โรงพยาบาล จำนวน 1,031 ราย และทำการศึกษาสารบ่งชี้ชีวภาพทางวิทยาภูมิคุ้มกัน (immunology) โดยเฉพาะ autoantibody ทั้ง 3 ชนิด คือ antibody ต่อ GAD, IA2 และ ZnT8 และใช้เทคนิคทางด้านอณูพันธุศาสตร์ เพื่อศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยโรคก่อนอายุ 30 ปี ของประเทศไทย  โดยผลการวินิจฉัยประเภทของโรคเบาหวานที่พบ แบ่งเป็น 1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 587 ราย 2. โรคเบาหวานที่ 2 จำนวน 220 ราย 3. เบาหวานชนิด MODY จำนวน 57 ราย 4. เบาหวานชนิด NDM จำนวน 9 ราย และ 5. ไม่ระบุชนิด 158 ราย  ซึ่งเมื่อรู้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานประเภทใด จะทำให้สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสม และนำไปสู่การรักษาโรคเบาหวานเฉพาะบุคคลต่อไป ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการในโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลสังกัดรัฐบาลแบบสหสถาบันที่มีการยืนยันผลการวินิจฉัยโดยการตรวจ antibody และยีน รวมทั้งมีการติดตามระยะยาว 
ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนนโยบายด้านสาธารณสุข ทั้งการป้องกัน การรักษา และส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนเป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำแนวทางในเวชปฏิบัติ (guideline) ในอนาคต

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สนับสนุนทุนวิจัยโดย สวรส. ทั้งสองเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยผู้ป่วยเบาหวานให้ชัดเจนว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 เพราะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน หากผู้ป่วยได้รับการคัดกรองและวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานโดยอาศัยค่าระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Plasma Glucose) เพียงอย่างเดียว ซึ่งค่าดังกล่าวบอกได้เพียงว่าเป็นเบาหวาน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเบาหวานชนิดใด ซึ่งถ้าสามารถวินิจฉัยต่อไปได้ว่าเป็นเบาหวานชนิดใด เช่น กรณีเบาหวานชนิดที่ 1 การตรวจออโตแอนติบอดี้ชนิดที่ 1 (Type I Autoantibody) จะให้ผลเป็นบวก ซึ่งจะทำให้การรักษามุ่งเป้าได้ดียิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันการตรวจออโตแอนติบอดี้ เบิกได้เฉพาะสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยมีค่าตรวจประมาณ 2,500 บาท แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิบัตรทองยังไม่ได้สามารถใช้สิทธิได้ ดังนั้นองค์ความรู้จากงานวิจัยจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่ตรวจพบว่า ออโตแอนติบอดี้ชนิดที่ 1 ให้ผลลบ อาจใช้การตรวจทางพันธุกรรมเพื่อการวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อ แต่ราคาตรวจค่อนข้างสูง ประมาณ 25,000 บาท ซึ่งยังต้องพิจารณาความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้