ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

เปิดงานวิจัยสร้างความเป็นธรรม มุ่งสู่บริการ ‘ทันตกรรม’ ที่เท่าเทียม

          ปัญหา ‘สุขภาพในช่องปาก’ กำลังสร้างความทุกข์ให้คนทั่วทั้งโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชากรไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านคนในโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโรคในช่องปาก ซึ่งแน่นอนว่า สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตโดยตรง1 และสำหรับประเทศไทยซึ่งมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาตั้งแต่ปี 2545 พบว่า สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมช่วยให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผลสำรวจสุขภาพช่องปากใน
ปี 2555 ของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ระบุว่า หลังจากมีระบบบัตรทองมาแล้ว 10 ปี พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการใช้บริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น คิดเป็น 32.23% โดยกว่า 75% ของผู้สูงอายุที่ใช้บริการทั้งหมด เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองซึ่งเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2543-2544 ในช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบบัตรทอง ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีสัดส่วนการใช้บริการทันตกรรมเพียง 23.3% ของกลุ่มตัวอย่าง3  ทั้งนี้ไทยเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ ตั้งแต่ปี 2565 โดยสัดส่วนผู้สูงอายุจะอยู่ราว 20-30% ของประชากรทั้งประเทศ นั่นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อม เพื่อตั้งรับกับปัญหาการใช้บริการด้านทันตกรรมที่จะเกิดขึ้น

          การพัฒนากำลังคนด้านทันตแพทย์เฉพาะทาง ทั้งในด้านการเพิ่มและการกระจายบุคลากรอย่างทั่วถึง จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบและการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางได้มากยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับทีมวิจัยจากสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมในระดับเขตสุขภาพ” เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการและการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางในระดับเขตสุขภาพ รวมทั้งเพื่อศึกษาสถานการณ์ของระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทาง และประเมินการนำนโยบายการพัฒนาระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทางไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทางในระดับเขตสุขภาพ  ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์พบข้อมูลว่า นโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดสรรกำลังคนโดยพิจารณาระดับความเชี่ยวชาญของแพทย์แปรตามระดับศักยภาพของสถานพยาบาล เช่น แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูงหรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะถูกให้ไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพการให้บริการในระดับสูง แต่ในส่วนของทันตแพทย์ มีเพียงการกำหนดจำนวนความต้องการตามประเภทวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังไม่มีการระบุถึงระดับความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับระดับของหน่วยบริการ แม้หลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการทำแผนพัฒนาระบบบริการสาขาสุขภาพช่องปาก แต่มีการกำหนดเพียงแค่ขอบเขตงานบริการทันตกรรมที่ควรจัดให้มีในหน่วยบริการระดับต่างๆ เท่านั้น 

          นอกจากนั้นการพัฒนาระบบโควตาศึกษาต่อของทันตแพทย์ ก็ยังไม่มีข้อมูลขอบเขตสมรรถนะของแต่ละระดับหลักสูตรเพื่อการพิจารณาเรื่องการศึกษาต่อของทันตแพทย์  จึงทำให้ไม่สามารถวางแผนกำลังคนที่เหมาะสมกับระบบบริการ อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงการวัดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่คาดหวังได้ตามความสามารถของบุคลากร และมากไปกว่านั้นนโยบายที่ผ่านมามุ่งพัฒนาเพื่อเพิ่มจำนวนทันตแพทย์ตามเกณฑ์เป้าหมาย แต่ไม่มีตัวชี้วัดที่ใช้ติดตามการพัฒนางาน  และยังขาดการมองเป้าหมายการพัฒนาอีกหลายมิติ เช่น ความปลอดภัย ความทันเวลา ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ  ซึ่งระบบโควตาศึกษาต่อของทันตแพทย์ดังกล่าวพบว่า สามารถเพิ่มจำนวน
ทันตแพทย์เฉพาะทางระดับวุฒิบัตรในภาพรวมได้ แต่ไม่สามารถกระจายตัวได้อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกันระหว่างเขตสุขภาพ เนื่องจากทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักย้ายไปอยู่ในเขตสุขภาพที่เป็นพื้นที่เมืองมากกว่าพื้นที่ชนบท ส่งผลให้การจัดสรรทันตแพทย์ไปศึกษาต่อในพื้นที่ชนบทยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร

          ทั้งนี้ในด้านของทันตแพทย์ ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตามโควตาที่ถูกจัดลงไปในพื้นที่ รวมถึงทางโรงพยาบาลต้นสังกัดก็ไม่มีปัญหาในการจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำงาน แต่ควรมีการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาของทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยทันตแพทย์ทั่วไปในการตัดสินใจและวางแผนการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างระบบบริการพื้นฐานและระบบบริการทันตกรรมเฉพาะทาง โดยอาจจัดทำแนวทางการให้คำปรึกษาหรือรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างจังหวัดให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นอกจากนั้นในส่วนของการกระจายทันตแพทย์ระดับวุฒิบัตร/อนุมัติบัตร ควรคำนึงถึงความพร้อมของเครื่องมือ สถานที่ กระบวนการบริหารบุคลากร รวมถึงทีมงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยในส่วนของสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม๊กซิลโลเฟเชียล และทันตกรรมจัดฟัน ควรพิจารณาให้มีเพียงหน่วยบริการรับส่งต่อเป็นหลัก เนื่องจากเป็นลักษณะงานที่มีการใช้เครื่องมือประกอบการทำงานที่มีราคาสูง 

          ทั้งนี้งานวิจัยมีข้อเสนอต่อรูปแบบการบริหารจัดการและการกระจายทันตแพทย์เฉพาะทาง ดังนี้ 1) ควรปรับวิธีการจัดสรรโควตาในพื้นที่ให้เป็นลักษณะของการจัดสรรทันตแพทย์คู่สัญญา เพื่อให้มีการปฏิบัติงานในรูปแบบของการชดใช้ทุน ซึ่งจะเป็นวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถจัดลำดับพื้นที่ตามความจำเป็น และสามารถบริหารจัดการให้มีทันตแพทย์เฉพาะทางปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม  2) ควรมีการกำหนดภาระงานสำหรับทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจน และสื่อสารภาระงานที่ชัดเจนดังกล่าวให้ทันตแพทย์ทุกคนเข้าใจ ทั้งทันตแพทย์ทั่วไปและทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยกระจายภาระงานบริการทันตกรรมพื้นฐานให้ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น และเข้าถึงบริการทันตกรรมเฉพาะทางได้สะดวกยิ่งขึ้น  3) ไม่ควรจำกัดจำนวนทันตแพทย์เฉพาะทางด้วยสัดส่วนตามกรอบอัตรากำลัง แต่ควรกำกับผลงานการพัฒนาระบบบริการของจังหวัดและเขตแทน เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัดและเขตสามารถออกแบบการพัฒนาทันตแพทย์เพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องตามการปฏิรูปเขตสุขภาพ โดยมีการกำกับติดตามข้อมูลสถิติการส่งต่อและเหตุผลของการส่งต่อ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบบริการในแต่ละพื้นที่ต่อไป 

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อระบบบริการสุขภาพของไทยมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งงานวิจัยที่เป็นข้อเสนอเพื่อการบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทางดังกล่าว มีข้อมูลเชิงประจักษ์หลายประเด็นที่สามารถนำมาพิจารณาในระดับนโยบายเพื่อการพัฒนาระบบบริการด้านทันตกรรม อาทิ ควรมีการกำกับติดตามการพัฒนาระบบทันตกรรมเฉพาะทางตามเป้าหมายของพื้นที่ แทนการกำกับติดตามที่จำนวนและประเภทของทันตแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาสุขภาพช่องปากของกระทรวงสาธารณสุข ควรทบทวนหลักเกณฑ์ระบบโควตาศึกษาต่อของทันตแพทย์ โดยกำหนดสาขาของทันตแพทย์เฉพาะทาง เป็นแบบสาขาหลักและสาขารอง โดยสาขาหลักคือสาขาที่โรงพยาบาลต้องการเพื่อรองรับการพัฒนาระบบบริการของพื้นที่ เช่น รองรับการดูแลผู้สูงอายุ สาขารองคือมีการระบุระดับโรงพยาบาลที่ชัดเจน เช่น สาขาจัดฟัน ต้องทำงานในโรงพยาบาลที่มีเครื่องเอ็กซเรย์ชนิด panoramic สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ต้องทำงานในโรงพยาบาลที่มีห้องผ่าตัดและทีมผ่าตัด ทั้งนี้ในกลุ่มสาขาหลัก อาจมีการเพิ่มโควตาให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อการกระจายการจัดบริการอย่างเท่าเทียม ลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการ และป้องกันภาวะคอขวดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่  นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมกับทันตแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศบุคลากรด้านทันตกรรม เพื่อให้มีข้อมูลทั้งทันตแพทย์ทั่วไป ทันตแพทย์เฉพาะทาง ทันตาภิบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเข้าถึงง่าย เพื่อใช้ประกอบการวางแผนและตัดสินใจเชิงนโยบายได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งหมดดังกล่าว นับเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเชิงระบบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสนับสนุนงานวิจัยของ สวรส.
............................................
 
ข้อมูลจาก
- โครงการการบริหารจัดการทันตแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการทันตกรรมในระดับเขตสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้