สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ ‘Pride Month’ ในทศวรรษ 1960 จนนำมาสู่การประกาศให้ ‘เดือนมิถุนายนของทุกปี’ เป็นช่วงของการเฉลิมฉลองและให้ความสำคัญแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) [1] ซึ่งนานาประเทศเริ่มมีความเข้าใจ และขับเคลื่อนงานด้านสิทธิสวัสดิการทางสุขภาพที่มีความเฉพาะกับกลุ่มดังกล่าวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของประเทศไทย ช่วงปลายปี 2566 เมื่อรัฐบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาความเหมาะสมในการบรรจุ ‘ฮอร์โมน’ สำหรับคนกลุ่มนี้ ลงในชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่ง สปสช. อยู่ระหว่างการศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ความคุ้มค่า และความเหมาะสมของการเข้าถึงการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ และบริการที่เกี่ยวข้องสำหรับประชากรข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ [2]
แน่นอนว่า นโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มคนข้ามเพศ แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความพยายามอย่างจริงจังในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับ LGBTQ+ ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีข้อมูลทางสุขภาพและองค์ความรู้เกี่ยวกับบริการสุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มข้ามเพศ (Transgender) ไม่มากนัก ฉะนั้นเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางยุทธศาสตร์สร้างสุขภาพให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ในระยะยาว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ” เพื่อศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพในด้านข้อมูลการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ สุขภาพจิต และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในบุคคลข้ามเพศ’ ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทยต่อไป
การวิจัยดังกล่าวได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างบุคคลข้ามเพศที่เข้ารับการรักษาเพื่อการข้ามเพศในระบบของคลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี และ CMU Pride Clinic แผนกผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งที่เป็นบุรุษข้ามเพศ และสตรีข้ามเพศ รวม 82 คน โดยผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า แม้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนจะมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสรีระได้ แต่ใน ‘บุรุษข้ามเพศ’ อาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น, มีระดับกรดยูริกที่สูงขึ้น, ค่าความเข้มข้นของเลือดมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีการทำงานของไตลดลงเล็กน้อยได้ ส่วน ‘สตรีข้ามเพศ’ การรักษาด้วยฮอร์โมนสามารถลดระดับความดันเลือดได้เล็กน้อย
สำหรับประเด็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดไม่พบการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใดๆ แต่พบว่าใน ‘กลุ่มบุรุษข้ามเพศ’ มีอัตราการป้องกันระหว่างการมีกิจกรรมทางเพศที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งบุคคลข้ามเพศมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าบุคคลข้ามเพศไม่ให้ความสนใจในเรื่องของภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีเท่าที่ควร ส่วนประเด็นสุขภาพจิต เมื่อติดตามการรักษาพบว่า ภาวะซึมเศร้าและการวิตกกังวล มีอาการเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย แต่ภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพลดลง
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การให้บริการสุขภาพสำหรับบุคคลข้ามเพศในปัจจุบัน มีปัญหาและอุปสรรคจำนวนมาก ทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการเอง โดยส่วนหนึ่งคือการที่บุคคลข้ามเพศไม่ถูกคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงสิทธิพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงการรักษาหรือการถูกเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพื่อการข้ามเพศ ยังไม่ถูกครอบคลุมในสิทธิการรักษาใดด้วย ทำให้ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ใช้ในการข้ามเพศ โดยเฉลี่ยสูงถึง 1,500-3,000 บาทต่อเดือน
จากข้อค้นพบทั้งหมด นำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ข้อ ได้แก่ 1) การคุ้มครองการไม่เลือกปฏิบัติ โดยต้องปฏิบัติกับผู้รับบริการทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่นำความแตกต่างในเรื่องเพศ การศึกษา ฐานะ มาเป็นเงื่อนไข รวมถึงสนับสนุนให้มีการออกกฎหมาย และข้อบังคับที่ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี และ บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ 2) รัฐควรสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลาย และจัดให้มีผู้ให้บริการด้านสุขภาพอื่นๆ ที่เชี่ยวชาญในการให้บริการบุคคลข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3) สนับสนุนการพัฒนาหรือใช้โปรแกรมการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเฉพาะของบุคคลข้ามเพศและเพศหลากหลาย 4) สนับสนุนการจัดบริการสุขภาพจิตสำหรับบุคคลข้ามเพศ เช่น การให้คำปรึกษา การดูแลปัญหาสุขภาพจิตใจและการปรับตัว 5) ควรพัฒนาหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ของประเทศ ให้ครอบคลุมการบำบัดด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศได้ 6) ควรมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านการดูแลสุขภาพ และผลลัพธ์ในการดูแลบุคคลข้ามเพศ 7) สนับสนุนการจัดตั้งชุมชนเครือข่ายบุคคลข้ามเพศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายในประเทศ 8) สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายผู้ให้บริการทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องการก่อตั้งคลินิกเพศหลากหลายในภูมิภาคต่างๆ 9) สนับสนุนกฎหมายให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ดังเช่นกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และการเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังจะศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการหาค่าและปริมาณฮอร์โมนที่เหมาะสมต่อบุคคลข้ามเพศชาวไทย รวมถึงวิธีการรับฮอร์โมน เช่น วิธีการรับฮอร์โมนด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในบุคคลข้ามเพศอย่างไรบ้าง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นคู่มือการรับฮอร์โมนของบุคคลข้ามเพศชาวไทย ที่จะนำเสนอเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ นอกจากนี้ควรมีการกำกับติดตามผลข้างเคียง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการใช้ฮอร์โมนด้วย”
ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมเปิดโอกาส/ให้พื้นที่ และฟังเสียงของบุคคลข้ามเพศ ตลอดจนยอมรับในความสามารถของคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ด้วยบุคคลข้ามเพศมีลักษณะเฉพาะ ดังนั้นระบบบริการสุขภาพจึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับสิทธิการดูแลด้านสุขภาพจากภาครัฐไม่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ หากแต่ปัจจุบันองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพหรือสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ อาจยังไม่เพียงพอและยังมีช่องว่างความรู้ในหลายประเด็น เช่น การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ, องค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศ, นโยบายการดูแลรักษาบุคคลข้ามเพศที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ฯลฯ ดังนั้นผลการวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศดังกล่าว จะเป็นองค์ความรู้ที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
............................
ข้อมูลจาก: งานวิจัยการพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
[1] https://www.bbc.com/thai/48715711
[2] https://www.nhso.go.th/news/4255
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้