4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

อนาคตการแพทย์คือ ‘จีโนมิกส์’ ส่วนภัยคุกคามสุขภาพยังเป็นโรค NCDs สวรส. มุ่งปรับทิศทางวิจัย ‘ตอบโจทย์ฝ่ายนโยบาย-ใช้ได้จริง’

          ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่ด้านสุขภาพและการแพทย์ ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าโทษอย่างที่หลายแวดวงเจอ เช่น เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการดูจอประสาทตา การวิเคราะห์อ่านฟิล์มเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้แพทย์มีความมั่นใจมากขึ้นในการวินิจฉัยโรค รวมถึงสามารถช่วยผู้คนให้มีทิศทางสุขภาพที่ดีขึ้น และมีความเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ น้อยลง แต่จากสถิติทางสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับสวนทางอย่างน่าเป็นห่วง กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังเคยมีการรายงานข้อมูลด้วยว่า ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีทิศทางเพิ่มขึ้น จาก 38 ล้านคน ในปี 2555 เป็น 41 ล้านคน ในปี 2559 [1]

          คำถามสำคัญ “ทำไมแนวโน้มต่างๆ ถึงเป็นเช่นนั้น” ซึ่งในการล้อมวงพูดคุยภายใต้กิจกรรมที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 18-19 ม.ค. 2567 นั้น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ได้มีการพูดถึงประเด็น “งานวิจัยกับการพัฒนาระบบสุขภาพ” ไว้อย่างน่าสนใจ และทำให้เห็นถึงคำตอบของคำถามดังกล่าว 
   
          นพ.ศุภกิจ เริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นความแตกต่างของความหมายระหว่างคำว่า ‘การแพทย์’ และ ‘การสาธารณสุข’ ที่หลายคนอาจเข้าใจว่าเหมือนกันว่า หากพูดถึงเรื่องการแพทย์ จะหมายถึง การที่แพทย์มุ่งเน้นไปที่การรักษาที่ตัวบุคคล จากความผิดปกติให้กลับเป็นปกติ ผ่านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์หรือยาที่ใช้รักษาหรือช่วยชีวิต เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตในระดับที่ดีใกล้เคียงเหมือนเดิม ส่วนคำว่าการสาธารณสุข หมายถึงสุขภาพของสาธารณะ ที่ไม่ได้มุ่งไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่เน้นไปที่เรื่องสุขภาพของชุมชน ซึ่งจะให้น้ำหนักไปที่การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือไม่ให้เกิดโรค โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ 1) การป้องกันระดับต้น คือการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรค 2) การป้องกันก่อนเริ่มโรค ซึ่งเป็นการคัดกรองโรคเพื่อติดตามดูแล โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงมีอาการจากโรคที่รุนแรงในอนาคต และ 3) การป้องกันเมื่อเป็นโรคแล้ว หรือการป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้วมีภาวะแทรกซ้อน และมีการติดตามดูแลเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม มีการกินยาสม่ำเสมอ 

          นพ.ศุภกิจ อธิบายต่อว่า การป้องกันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หรือการจัดบริการสุขภาพที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโรค โดยในส่วนที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพ จะหมายถึงการยกระดับสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เช่น หากมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อมีโรคภัยมาเยือนก็จะมีโอกาสไม่ป่วย หรือป่วยยากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย

          จากนั้น นพ.ศุภกิจ ได้ฉายภาพสถานการณ์สุขภาพของไทยและโลกว่า ปัจจุบันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นแนวโน้มปัญหาทางสุขภาพที่คนทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งไทยก็หนีไปจากปัญหานี้ไม่พ้นเช่นกัน เพราะจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ที่ทำกันทุกๆ 5 ปี พบว่า ในระยะ 3 ครั้งหลังสุด ไทยยังไม่สามารถลดอัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน อัตราผู้ป่วยขยับเพิ่มขึ้นจาก 7% ไปสู่ระดับ 8.9% และมาถึง 9.4% ในผลการสำรวจสุขภาพครั้งล่าสุด หรือโรคความดัน ที่ผลสำรวจสุขภาพครั้งที่ 4 พบว่า มีผู้ป่วย 20% และก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 24.7% และมาถึง 25.4% ในครั้งล่าสุด 
   
         อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสุขภาพทั่วโลกก็พยายามใช้กลไกการวิจัยเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเองก็มุ่งมาในทิศทางที่ต้องใช้การวิจัยเพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพของคนไทย ทั้งนี้นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ไทยกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว รวมถึงล่าสุดอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตมาบรรจบกัน ซึ่งคาดว่าในปีถัดๆ ไป ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะแซงหน้าตัวเลขการเกิด ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจำนวนประชากรจะลดลงเรื่อยๆ เป็นผลให้แรงงานลดน้อยลง และคนรุ่นใหม่ในยุคนี้จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น และมากไปกว่านั้น ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในโลกยังต้องเจอกับปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ของประชากรอีกด้วย โดยสำหรับไทยปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงไทย 1 คน เฉลี่ยให้กำเนิดบุตรอยู่แค่ 1.1 คน ซึ่งแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะพยายามอย่างไร แต่สถานการณ์ตอนนี้ต้องบอกตามตรงว่า ค่อนข้างแก้ได้ยาก แม้จะมีการรณรงค์ที่บอกว่า ให้มีลูกเพื่อชาติ ก็อาจไม่ได้ผล 
   
          “อย่างรัฐบาลสิงคโปร์ ออกแคมเปญมีส่วนลดที่อยู่อาศัย บ้าน หรือคอนโดสำหรับครอบครัวที่มีลูก เพื่อกระตุ้นให้มีลูกกันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ผล” นพ.ศุภกิจ ยกตัวอย่าง 
   
          ช่วงท้าย นพ.ศุภกิจ ให้มุมมองถึงอนาคตของระบบสาธารณสุขของประเทศว่า อนาคตหนีไม่พ้นที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนช่วยอย่างมาก อย่างเช่นตอนนี้ที่ทุกคนก็เห็นกันบ้างแล้ว เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่นำมาใช้แก้ปัญหาลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดการรอคอยรับบริการ ซึ่งเป็นระบบที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยและรู้จัก พร้อมกับมีจำนวนการใช้บริการมากขึ้น รวมถึงสิ่งที่จะตามมาคือ ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ หรือ AI Medical ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการแพทย์ เพราะแพทย์จบใหม่จะใช้งานมากขึ้น เช่น การอ่านผลเอ็กซเรย์ ที่ขณะนี้มีเครื่องอ่านผลพร้อมกับส่งผลไปยังแพทย์ได้ทันที และมากไปกว่านั้น การแพทย์อนาคตจะมุ่งไปสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ที่อาศัยความรู้ด้านจีโนมิกส์มากขึ้น เพราะจะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด เช่น การตรวจหาดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ การคัดกรองมะเร็งลำไส้จากตัวอย่างที่แม่นยำมากขึ้น 
   
          สำหรับบทบาท สวรส. หลังจากนี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกนิยามว่าเป็นคลังสมองด้านสาธารณสุขของประเทศ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สวรส. จะทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ และแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขของประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการวิจัยที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เพื่อเป็นข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ  
   
          ตัวอย่างเช่น ช่วงโควิด-19 ที่ครั้งนั้น รัฐบาลต้องการคำตอบเกี่ยวกับยาชนิดหนึ่งเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย และยังเป็นยาเดียวที่มีอยู่ในตลาดอีกด้วย สวรส.จึงไปหนุนทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิของประเทศ อย่างคณะกรรมการประมวลสถานการณ์ โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ชื่อว่า MOPH Intelligence Unit หรือ MIU บนโจทย์ที่ว่าต้องทำอย่างเร็วเพื่อรู้ผลให้เร็วที่สุด ซึ่งตามปกติแล้ว นักวิจัยอาจต้องขอเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อลงมือเรื่องนี้ แต่ด้วยเพราะความเร่งด่วนและความชำนาญของนักวิจัย ก็ทำให้สามารถได้คำตอบอย่างรวดเร็ว ทันกับการนำมาใช้ประโยชน์ โดยพบว่ายาชนิดนี้ช่วยลดความรุนแรงได้บ้างแต่ไม่มากนัก และอนาคตก็เชื่อว่าจะมียาชนิดอื่นออกมาอีก ข้อเสนอแนะจึงคือ ควรซื้อเอาไว้ในประเทศในปริมาณน้อยเพื่อรองรับการใช้งานไปก่อน ซึ่งเป็นการวิจัยผ่านการทบทวนงานวิจัยเดิมที่เคยมีอยู่ ทำให้ได้คำตอบที่รวดเร็วและส่งผลให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลมีผลลัพธ์ที่ดี ตลอดจนเป็นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นผลที่มาจากการวิจัย 
   
          “ด้วย สวรส. เป็นสถาบันวิจัยที่สนับสนุนการวิจัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ แน่นอนว่าเราจะมุ่งเน้นมาที่เรื่องของระบบสุขภาพ รวมถึงการวิจัยโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หรือโครงการรับยาที่ร้านยา เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นว่า โครงการต่างๆ ตามนโยบายมีประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร มีการเข้าถึงบริการเป็นอย่างไร อะไรบ้างที่ควรปรับปรุง หรือแม้แต่การเติมกำลังคนเข้าไปในระบบ จะต้องเติมอย่างไร ปริมาณหมอ และพยาบาลต้องเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องการสาธารณสุขที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่อีกด้านในเรื่องการแพทย์ ที่มุ่งเน้นมายังการรักษา สวรส. ก็มีการสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์และยาที่จำเป็นต่อการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยเช่นกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าวตอนท้าย 
................................

ข้อมูลจาก
[1] รายงานสถานการณ์โรคNCDs63update.pdf (thaincd.com)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้