ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

บทสรุปผู้บริหารผลประเมินUC

ากการทำงานร่วมกันของนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทย เรื่องการประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545 - 2554) ภายใต้กรอบการประเมิน 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ บริบทด้านนโยบายรัฐ การดำเนินนโยบาย ระบบอภิบาล และผลกระทบของนโยบาย ซึ่งการประเมินผลดังกล่าวได้มีการนำเสนอครั้งแรกในเวทีการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา

          จากการทำงานร่วมกันของนักวิชาการต่างประเทศและนักวิชาการไทย เรื่องการประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545 - 2554) ภายใต้กรอบการประเมิน 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ  บริบทด้านนโยบายรัฐ  การดำเนินนโยบาย ระบบอภิบาล และผลกระทบของนโยบาย ซึ่งการประเมินผลดังกล่าวได้มีการนำเสนอครั้งแรกในเวทีการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้จุดประเด็นจึงขอนำเนื้อหาบทสรุปจากรายงานประเมินผลอิสระของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ. 2545 - 2554) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงกว้างต่อไป
 

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย : สัมฤทธิ์ผลและความท้าทาย

         ภายหลังจากที่ประเทศไทยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสาธารณสุขมาร่วมสี่ทศวรรษและร่วมสามทศวรรษที่มีการพัฒนาระบบประกันสุขภาพระบบต่างๆ ก็สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนในปี พ.ศ. 2545 ทำให้ประชาชนทุกคนได้รับหลักประกันสุขภาพและสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ที่จัดให้ แม้มีปัจจัยหลายประการที่นำมาซึ่งความสำเร็จดังกล่าว แต่ที่สำคัญที่สุดคงไม่พ้นความมุ่งมั่นในการปฏิรูปของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

         ภายหลังจากรัฐบาลไทยประกาศนโยบายดังกล่าวได้ปีเดียว ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากรไทยได้ถึง 47 ล้านคน หรือร้อยละ 75 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ถูกครอบคลุมโดยระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคม โดยระบบใหม่นี้รวมประชากรประมาณ 18 ล้านคนที่ก่อนหน้านี้ไม่มีประกันสุขภาพใดๆ ความน่าทึ่งของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยนั้นไม่เพียงแต่สามารถขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (พ.ศ. 2540) ไม่นาน และประเทศมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐ โดยมิได้ฟังเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศซึ่งเชื่อว่าระบบดังกล่าวไม่สามารถอยู่รอดทางการเงิน 

         นอกจานี้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งอาศัยระบบภาษียังมีสัมฤทธิ์ผลที่น่าประทับใจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ลดภาระรายจ่ายของประชาชนด้านค่ารักษาพยาบาล และปกป้องครัวเรือนจากภาระเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาล หลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จในเป้าประสงค์เชิงนโยบายทั้งสามด้าน (ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการ การปกป้องครัวเรือนจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจนอาจทำให้ล้มละลาย และการลดอุบัติการณ์ความยากจนอันเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล) ในระยะเวลาอันสั้น และดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

         ตัวอย่างความสำเร็จ คือ จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้งต่อคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 3.64 ครั้งต่อคนต่อปีในปี พ.ศ. 2554 และอัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวระหว่างช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนั้นข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 ยังชี้ให้เห็นว่าความชุกของประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (unmet need) อยู่ในระดับที่ต่ำมาก อุบัติการณ์ของภาระค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายในกลุ่มคนจนลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ. 2538 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ. 2551 นอกจากนั้นอุบัติการณ์ของความยากจนอันเนื่องจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลซึ่งวัดจากครัวเรือนที่มีรายได้เหนือเส้นความยากจนต้องมีรายได้คงเหลือต่ำกว่าเส้นความยากจนภายหลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 2.7 ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหลือร้อยละ 0.49 ในปี พ.ศ. 2552 ตัวชี้วัดซึ่งบ่งชี้ความสำเร็จของระบบดังกล่าวได้เป็นอย่างดีอีกประการ คือระดับความพึงพอใจที่สูงของประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2546 เป็นร้อยละ 90 ในปี พ.ศ. 2553 นอกจากนั้นแม้กลุ่มผู้ให้บริการพึงพอใจต่อระบบดังกล่าวค่อนข้างต่ำในระยะแรก คือเพียงร้อยละ 39 ในปี พ.ศ. 2547 แต่ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 79 ในปี พ.ศ. 2553

         รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อค้นพบสำคัญจากการประเมินการดำเนินงานของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงทศวรรษแรกอย่างรอบด้าน ซึ่งทำการประเมินในปี พ.ศ. 2554 ในกรอบห้าด้านหลักด้วยกัน คือ การพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ บริบทด้านนโยบายรัฐและการปฏิรูปอื่นของรัฐ การดำเนินนโยบาย ระบบอภิบาล และผลกระทบของนโยบาย ทั้งนี้รายงานฉบับนี้สรุปข้อค้นพบจากรายงานฉบับเต็มซึ่งดำเนินการโดยทีมนักวิจัยไทยห้าทีมด้วยกัน รายละเอียดฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข www.hsri.or.th 


         เป้าหมายหลักของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนไทยในระบบสาธารณสุข โดยระบบนี้มีลักษณะสำคัญสามประการคือ 1) อิงระบบภาษีและไม่ต้องจ่ายค่าบริการเมื่อไปใช้บริการ 2) ครอบคลุมสิทธิประโยชน์อย่างรอบด้านและให้ความสำคัญกับระบบบริการปฐมภูมิ 3) ใช้งบประมาณและจ่ายค่าบริการแบบปลายปิดเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นระบบนี้ยังครอบคลุมบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงยังมีกลไกลสำหรับการคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชน ให้ข้อมูล และรับเรื่องร้องเรียน มีระบบการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล รวมถึงการกำหนดให้โรงพยาบาลต้องมีระบบพัฒนาคุณภาพบริการ (hospital accreditation)

         กลุ่มนักการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ต่างมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่การผลักดันการผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การออกแบบระบบ การดำเนินนโยบาย และการประเมินผล ทั้งนี้ประสบการณ์ทั้งด้านบวกและลบจากระบบประกันสุขภาพอื่นๆที่มีการดำเนินงานก่อนหน้านี้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบระบบ และการที่ประเทศไทยสามารถขยายการให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนได้อย่างรวดเร็วก็เนื่องจากมีพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการดำเนินงาน คือ มีโครงสร้างการให้บริการภาครัฐที่ครอบคลุมเต็มทุกพื้นที่ไปถึงระดับอำเภอและตำบล มีหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุขที่มีศักยภาพ มีศักยภาพในการบริหารระบบสาธารณสุข และมีระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่พร้อมใช้งาน 

         การออกแบบระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้าน การเงินการคลัง การอภิบาลระบบ โครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการ กล่าวคือ ทำให้เกิดองค์กร ความสัมพันธ์ และวิธีการทำงานแบบใหม่ โดยตั้งใจใช้กลไกการเงินไปเสริมความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขเน้นเบนความสำคัญไปสู่ระบบบริการปฐมภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส การตอบสนองต่อประชาชน และความรับผิดชอบ โดยการดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาการสนับสนุนและทัดทานแรงต้านในการปฏิรูปจากผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่ม

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเผชิญกับอุปสรรคความท้าทายในการปฏิรูปที่ผ่านมาที่ยังไม่ลงตัวซึ่งต้องการปฏิรูปใหม่อีกรอบในช่วงทศวรรษต่อๆไป โดยต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นตัวนำ โดยประเด็นการปฏิรูปซึ่งยังไม่ลงตัว คือ การบริหารระบบการแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการ การซื้อบริการอย่างมีกลยุทธ์และการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และการผสานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนประกันสุขภาพ นอกจากนั้นความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังต้องพัฒนาระบบและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร เทคโนโลยี ความคาดหวังของประชาชน และการแสวงหากำไรของการค้าในระบบบริการสาธารณสุข

คณะผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอาศัยความรู้ที่ได้จากการประเมินครั้งนี้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงทศวรรษหน้าดังนี้

  1. ควรดำรงไว้และขยายการปกป้องครัวเรือนจากภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล เพื่อลดการจ่ายเมื่อไปใช้บริการ และป้องกันภาระค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ล้มละลายและยากจน โดยเฉพาะในบริบทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสถานพยาบาลภาคเอกชนและประกันสุขภาพเอกชน
  2. ควรพัฒนาการผสานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ให้บริการไม่เลือกปฏิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระหว่างกองทุน และให้มีการเชื่อมต่อสิทธิเมื่อมีการเปลี่ยนสิทธิของสมาชิกจากสิทธิหนึ่งไปยังอีกสิทธิหนึ่ง อย่างน้อยควรต้องให้ระบบมีมาตรฐานเดียวกันในด้าน สิทธิประโยชน์ ระบบข้อมูล วิธีจ่ายที่เป็นมาตรฐานและอัตราเดียวกัน ระบบการเรียกเก็บค่าบริการ และระบบตรวจสอบ ควรมีการศึกษาหาหลักฐานเชิงประจักษ์ในจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละระบบเพื่อหาทางในการผสานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนต่อไป
  3. เป็นที่ตระหนักว่าระบบการแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการนั้นยังทำงานได้ไม่ดี (จากการที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการรายเดียวในชนบท) จึงจำเป็นต้องหาระบบใหม่ที่มีลักษณะเป็นพันธมิตรระยะยาวที่มีประสิทธิผลระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการระหว่างพื้นที่ต่างๆ ควรศึกษาดูว่าระบบการซื้อและให้บริการในพื้นที่ลักษณะพันธมิตร (local commissioning) จะมีประสิทธิผลดีกว่าการให้จังหวัดซื้อบริการหรือไม่โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิ
  4. หาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพเชิงขนาด (scale efficiency) กับศักยภาพในการสร้างความรับผิดชอบและการตอบสนองต่อประชาชนในกรณีกระจายอำนาจ แม้ภารกิจบางประการของ สปสช. จำเป็นต้องมีการรวมศูนย์ เช่น การกำหนดมาตรฐานและอัตราการจ่าย การตรวจสอบเวชปฏิบัติ เป็นต้น แต่ในระดับพื้นที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น และต่อรองระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ (ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ และผู้มีสิทธิ์) เพื่อจัดการกับปัญหาอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ ตกลงในวิธีการดำเนินงาน และและสร้างความร่วมมือในการนำนโยบายไปสู่เป้าประสงค์
  5. พัฒนาศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขระดับอำเภอให้สามารถให้บริการได้อย่างรอบด้านแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ และพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนานโยบายด้านกำลังคนเพื่อเพิ่มกำลังคนในระดับอำเภอ โดยเฉพาะควรต้องสร้างมาตรฐานการให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆแก่บุคลากรที่ว่าจ้างในพื้นที่
  6. โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นแกนนำและอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ในการกำหนดนโยบายกระจายและจัดสรรบุคลากรให้เป็นธรรมแก่พื้นที่ต่างๆ เนื่องจากเงินเดือนเป็นองค์ประกอบสำคัญในงบประมาณระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากบุคลากรมีการกระจายอย่างเป็นธรรมมากขึ้นจะทำให้การซื้อบริการอย่างมีกลยุทธ์มีประสิทธิผลมากขึ้น
  7. ลดการใช้บริการในโรงพยาบาลใหญ่โดยหาแนวทางใหม่ๆเพิ่มการลงทุนในการป้องกันปฐมภูมิด้วยการให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น
  8. เพิ่มความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยเพิ่มความเข้มแข็งในการกำกับด้านคุณภาพบริการ พัฒนาระบบการบริหารโรงพยาบาลทุกระดับ ทำให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบและเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยบริการ และป้องกันการเรียกเก็บที่ไม่ถูกต้อง
  9. เพิ่มความเข้มแข็งของกลไกการอภิบาลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยทำให้ระบบมีความเป็นตัวแทนมากขึ้น โปร่งใส และรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญที่สุดคือป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของสมาชิกในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทตัวแทนของภาคประชาสังคมและภาคชุมชน และควรแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้มาจากราชการเพิ่มขึ้นเพื่อให้การตัดสินใจต่างๆอิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นและป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง
  10. ควรพัฒนาศักยภาพองค์กรในการประเมินเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลในการซื้อบริการหรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ อันเป็นการเพิ่มผลตอบแทนต่อเม็ดเงินที่ใช้
  11. ควรทำงานร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อไปในการผลิตข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนซึ่งเป็นตัวแทนระดับประเทศในด้านผลกระทบของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อครัวเรือน พัฒนาระบบการติดตามประเมินระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิผล พัฒนาระบบข้อมูลรายงานและฐานข้อมูลการใช้บริการให้มีความถูกต้องและใช้ได้ดีขึ้นในการบริหารระบบโดยเฉพาะข้อมูลด้านผลลัพธ์การให้บริการ พัฒนาตัวชี้วัดและมาตรวัดเทียบเคียงเพื่อประเมินคุณภาพบริการที่จัดแก่ผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี และการป้องกันปฐมภูมิและทุติยภูมิของกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ

การประเมินระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังให้บทเรียนที่มีประโยชน์ต่อประเทศอื่นที่กำลังมุ่งไปสู่การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนของตน และต่อองค์กรแหล่งทุนที่สนับสนุนประเทศเหล่านี้ ดังนี้

  1. การสนับสนุนด้านการเมืองระดับสูงในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ศักยภาพเชิงวิชาการในประเทศในการออกแบบระบบและชุดสิทธิประโยชน์ที่รอบด้าน และศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะดำเนินนโยบายได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งสามปัจจัยถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จ รวมถึงการปฏิรูปด้านการเงินการคลังในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมีผลต่อความสำเร็จที่ยั่งยืน
  2. บทบาทการนำระดับชาติที่เข้มแข็งควรเป็นลักษณะสำคัญของการปฏิรูปใดๆ เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของแต่ละประเทศต่างกัน การออกแบบยุทธศาสตร์ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์รวมถึงประสบการณ์ระดับชาติในการเพิ่มการเข้าถึงบริการและการปกป้องภาระค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาของประเทศนั้นๆเป็นหลัก และการออกแบบระบบต้องอิงกับศักยภาพของประเทศในการปรับใช้และบริการการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ ดังนั้นการประเมินความเป็นไปได้ทางการเมือง ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และการยอมรับของสังคมมีความจำเป็น
  3. ความขัดแย้งเชิงอำนาจ แรงกดดัน และแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงต้องการการเจรจาต่อรองและการประนีประนอมตลอดระยะการออกแบบและการดำเนินนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึง การสร้างการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความโปร่งใสของโครงสร้างการอภิบาลระบบ เป็นกลไกที่จำเป็นในการแก้ปัญหาและช่วยรักษาให้ระบบเน้นการสร้างความเป็นธรรมในสังคมและความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
  4. การพัฒนาและสร้างความยั่งยืนของศักยภาพระบบการวิจัยด้านนโยบายและระบบสาธารณสุข การสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานวิจัย และการสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างการวิจัยและการตัดสินใจด้านนโยบายอย่างมีประสิทธิผลสำคัญอย่างยิ่งต่อ การออกแบบระบบ การดำเนินงาน และการประเมิน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่นำโดยการเมืองก็ควรทำให้เป็นนโยบายที่อิงกับข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  5. การใช้งบประมาณจากระบบภาษีในการให้สิทธิประโยชน์อย่างรอบด้านโดยประชาชนไม่ต้องร่วมจ่ายเมื่อใช้บริการ แก่ประชาชนหลายล้านคนซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ มิใช่ว่าจะไม่สามารถเลี่ยงที่จะทำให้รายจ่ายสุขภาพของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ อย่างไรก็ดีมีความเสี่ยงที่รายจ่ายรัฐบาลอาจเพิ่มสูงกว่าศักยภาพในการจ่ายของรัฐบาล การใช้งบประมาณและการจ่ายแบบปลายปิด รวมถึงเน้นใช้ระบบบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลในท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นในการควบคุมค่าใช้จ่ายและความยั่งยืนของระบบในระยะยาว ขณะเดียวกันควรพยายามพัฒนาบริการและขยายสิทธิประโยชน์เพื่อปกป้องครัวเรือนจากภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้น

 

ที่มา : บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
Thailand ’s Universal Coverage Scheme : Achievement and Challenges
An independent assessment of the first 10 years (2001-2010)


เผยแพร่ในงาน แถลงข่าว “1 ทศวรรษ (2001-2011) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
สัมฤทธิ์ผลกับความท้าทายใหม่ : เป้าหมายสู่ทศวรรษหน้าอย่างยั่งยืน
วันที่ 24 มกราคม 2555 ณ Centara Grand & Bangkok Convention Centre, Central World

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้