4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

มาตรฐานข้อมูล LOINC กับ ระบบข้อมูลสุขภาพของไทย

LOINC อ่านออกเสียงว่า “หลอยค์” หรือ “ล-อ๋อยค์” หรือ “โล-อิ๊งค์” ระบบชื่อและรหัสมาตรฐาน (Standard name and coding system) สากลที่ใช้ระบุชนิดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (medical laboratory) และการตรวจทางคลินิก(clinical observation)

LOINC คืออะไร สำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับระบบข้อมูลสุขภาพอย่างไร


          LOINC  อ่านออกเสียงว่า “หลอยค์” หรือ “ล-อ๋อยค์” หรือ “โล-อิ๊งค์” ( wiki ) ระบบชื่อและรหัสมาตรฐาน (Standard name and coding system) สากลที่ใช้ระบุชนิดของการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (medical laboratory) และการตรวจทางคลินิก(clinical observation) ถ้า “ภาษาอังกฤษ” เป็นภาษาสากลที่ทำให้คนหลายชาติสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ รหัส LOINC ก็เปรียบเหมือนกับภาษาที่ทำให้ระบบข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Laboratory Information Systems) และระบบระเบียนสุขภาพ(Electronic Health Records) ที่ต่างระบบกันสามารถสื่อสารเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และการตรวจทางคลินิกทำงานร่วมกันได้ (Interoperablility)

          ปัจจุบันมีกว่า 140 ประเทศทั่วโลกที่ใช้ LOINC ในระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพทั้งในระดับองค์กร และในระดับชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ และฮ่องกง เป็นต้น นอกจากระบบชื่อและรหัส LOINC จะครอบคลุมการตรวจทางคลินิกเกือบทั้งหมดแล้ว สถาบันรีเกนสทรีฟ ยังเปิดให้ทั่วโลกใช้ฐานข้อมูลรหัส LOINC และโปรแกรมเครื่องมือที่ช่วยในการจับคู่ รหัส LOINC กับรหัสท้องถิ่น (Local code) ที่ชื่อ RELMA (Regenstrief LOINC Mapping Assistant) รวมถึงคู่มือและเอกสารต่างๆ ของสถาบันฯโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ แต่ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างชื่อและรหัสได้เอง ต้องเสนอชื่อและรหัสการตรวจใหม่ที่ไม่มีในฐานข้อมูลให้คณะกรรมการ LOINC ของสถาบันรีเกนสทรีฟ เป็นผู้ตรวจสอบ พิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อให้ชื่อและรหัส LOINC มีความเป็นเอกภาพ

          สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรหัสมาตรฐานด้านการตรวจทางคลินิกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อมูลทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางคลินิก (Laboratory Information) ของหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ การมีรหัสมาตรฐานข้อมูลทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางคลินิกที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ จะเกิดประโยชน์กับหน่วยงานในระบบสุขภาพ ทั้งเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ เพื่อการรายงานทางระบาดวิทยา เพื่อการบริหารทรัพยากร เพื่อการบริหารจัดการการประกันสุขภาพและการเงินการคลังระบบสุขภาพ หรือเพื่อสนับสนุนการวิจัยทางคลินิกและทางสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลทำให้ระบบการบริการสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพขึ้นทั้งด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล และทางเศรษฐศาสตร์สุขภาพ

LOINC มีข้อดีอย่างไร

1. มีความเป็นสากลครอบคลุมการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีในโลกนี้เกือบทั้งหมด และออกแบบวิธีการกำหนดรหัสให้สามารถรองรับเทคโนโลยีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

2. เป็นที่ยอมรับ ใช้กันกว้างขวาง ในสหรัฐ แคนาดา และหลายประเทศ เช่น เยอรมัน   สเปน  อาร์เจนตินา สวิสเซอร์แลนด์ ขณะนี้มีรหัส Laboratory ประมาณ 45,895 รายการ  รหัส Clinical Observation ประมาณ 16,601 รายการ รหัส Attachment 1,327 รายการ และรหัสแบบสำรวจ(Survey forms) 4,527 รายการ (LOINC version 2.38 December 2011)

3. มีกระบวนการบำรุงรักษาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีระบบสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขยายเครือข่ายการร่วมพัฒนาออกไปในหลายประเทศ

4. มีโปรแกรม mapping ที่เรียกว่า RELMA  (Regenstrief LOINC Mapping Assistant ) มีการอบรมสำหรับผู้สนใจอย่างสม่ำเสมอปีละสองครั้งที่สถาบันรีเกนสทรีฟ สหรัฐอเมริกา ประเทศต่างๆ สามารถติดต่อผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ มาเป็นวิทยากรอบรมในประเทศของตนได้ สำหรับประเทศไทยกำลังดำเนินการติดต่อให้มาเป็นวิทยกรในต้นปี 2555

5. สามาถนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์

ทำไมประเทศไทยจึงควรนำ LOINC มาใช้

          จากรายงานผลการวิจัยเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาอีเฮลท์ (eHealth) และระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพของประเทศไทย ที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการร่วมกับองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2553 พบว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาบริการและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth applications and services) ค่อนข้างแพร่หลาย แต่เป็นการพัฒนาที่กระจัดกระจาย (fragmented) ขาดแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน รวมถึงขาดการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญขาดการพัฒนาในระดับพื้นฐาน (foundations) ของระบบฯ อย่างรุนแรง ทั้งด้าน 1)การให้ความสำคัญระดับนโยบาย และการกำกับดูแลในระดับประเทศ 2)การพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ 3) การพัฒนากำลังคนด้านระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาระบบการศึกษาอบรมในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ

          จากความสำคัญและประโยชน์ข้างต้น ทำให้คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารสุขภาพแห่งชาติ โดยการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี เห็นว่ารหัสมาตรฐานข้อมูลด้านการตรวจทางคลินิกมีความสำคัญในลำดับต้นๆ ที่ประเทศไทยควรรีบดำเนินการจัดการให้มีขึ้น และมาตรฐาน LOINC เป็นมาตรฐานฯ ที่ควรเลือกใช้ในระบบข้อมูลสุขภาพ

          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพแห่งชาติ และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานรหัสการตรวจทางห้องปฏิบัติการ LOINC (Thailand LOINC Workshop : Logical Observation Identifiers Names and Codes Workshop) ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งการประชุมปฏิบัติการดังกล่าว มุ่งให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องรหัสห้องปฏิบัติการ LOINC เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้นำกลับไปใช้ในระบบบริการสุขภาพต่อไป โดยวิทยากรร่วมให้ความรู้ในครั้งนี้ อาทิเช่น นพ.ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน นพ.อนันต์ กนกศิลป์ คุณวันชนะ พลทองมาก ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ เช่น ผู้ปฏิบัติงานด้านพยาธิวิทยาคลินิก พยาธิวิทยากายวิภาค รังสีวิทยา ผู้ปฏิบัติงานระบบสารสนเทศโรงพยาบาล ระบบสารสนเทศทางห้องปฏิบัติการ ฯลฯ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้ร่วมทดลองปฏิบัติการ Map รหัสท้องถิ่น กับ รหัส LOINC ด้วย ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ จะเผยแพร่รหัสห้องปฏิบัติการ LOINC นี้ ให้เป็นที่ยอมรับและจัดให้มีคณะทำงาน Mapping รหัสห้องปฏิบัติการ LOINC ต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้