ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู

อย่าให้การกระจายอำนาจแก่ อปท. กลายเป็นแพะของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ระยะนี้ หากไม่พูดถึงปัญหาน้ำท่วม ก็จะกลายเป็นการตกยุคสมัยไป เพราะผู้คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อนเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามปรกติ แม้ว่ากลไกต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้พยายามเข้าไปช่วยเยียวยาแล้วก็ตาม... นี่แสดงว่า ระบบของเราล้มเหลว ไม่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้แล้วหรือ

         ระยะนี้ หากไม่พูดถึงปัญหาน้ำท่วม ก็จะกลายเป็นการตกยุคสมัยไป เพราะผู้คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อนเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามปรกติ แม้ว่ากลไกต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้พยายามเข้าไปช่วยเยียวยาแล้วก็ตาม... นี่แสดงว่า ระบบของเราล้มเหลว ไม่สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้แล้วหรือ


          โดยทั่วไป ทุกระบบๆ ไม่ว่าระบบเล็กหรือระบบใหญ่ (รวมถึงสังคมไทยในฐานะที่เป็นระบบหนึ่งด้วย) จะมีศักยภาพในการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่สูญเสียความสามารถในการทำงานตามหน้าที่ของระบบนั้นๆ ไป แต่ระบบทุกระบบก็มีความเสี่ยง และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับกับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทำให้ระบบนั้นๆ ทนต่อแรงกดดันภายนอก (ภัยธรรมชาติต่างๆ รวมถึงสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น) โดยไม่ส่งกระทบอย่างมากต่อหน้าที่ของระบบนั้นๆ (system resilience)1  ได้แตกต่างกันด้วย


กรณี การเกิดซีนามิขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 เราได้เห็นประชาชนและกลไกภาคส่วนต่างๆ รับมือกับความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติดังกล่าว ด้วยภาพซึ่งเป็นที่ชื่นชม ของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการมีระเบียบวินัยและความอดทนของประชาชนในการรับความช่วยเหลือ ต่างๆ เรื่องราวของผู้คนที่แม้ตนเองจะได้รับความสูญเสีย แต่ก็ยังคำนึงถึงชีวิตของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ปัญหาการลักทรัพย์แม้จะเกิดขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก กลไกต่างๆ ทำงานและประสานงานกันได้อย่างดี เมื่อมีปัญหาผู้รับผิดชอบก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขอโทษกับประชาชน ฯลฯ (เรื่องราวจำนวนมากเหล่านี้ยังหาอ่านได้ในสื่ออินเตอร์เน็ต เช่น จาก http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE10374173/NE10374173.html และข้อมูลจากรายงานการจัดภารภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดภัย กรณีศึกษาประเทศไทยและประเทศอื่นๆ จัดทำโดยสภาพัฒน์ หาอ่านได้จาก http://measwatch.org/sites/default/files/bookfile/data_0519260511.pdf) ทั้งหมดสะท้อนความสามารถของสังคมญี่ปุ่นต่อการรับมือภาวะวิกฤต โดยที่สังคมไม่เกิดวิกฤตตามไปด้วย

         สำหรับปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย เราเห็นสังคมไทยและคนไทยรับมือกับปัญหาได้ดีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชน ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป แม้เรื่องราวอาจไม่ประทับใจมากเหมือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น อาจพบบางคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นในยามเดือดร้อนบ้าง แต่ก็ถูกสังคมส่วนรวมประณาม สะท้อนถึงคุณภาพของคนและความสามารถของสังคมในการรักษาค่านิยมและบรรทัดฐาน ที่ถูกต้อง ในการช่วยเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งที่น่าเป็นห่วงและมีผู้สะท้อนปัญหากันอย่างมากคือ การทำงานและการประสานระหว่างกลไกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หลักๆ สะท้อนผ่านปัญหาการประสานระหว่าง ศปภ. ซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาลส่วนกลาง และ กทม. ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนมีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตจากอุทกภัยครั้งนี้

         คุณภาพประชากร รวมถึงวัฒนธรรม ค่านิยมของประชาชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนด system resilience รายงานของสภาพัฒน์ฯ (ตามที่อ้าง) ได้ระบุประเด็นจุดแข็งนี้ของประเทศญี่ปุ่นไว้อย่างชัดเจน และเป็นจุดแข็งที่ผ่านการปลูกฝัง เตรียมการ มายาวนาน (อันเนื่องจากสภาพภูมิประเทศและประวัติศาสตร์การพัฒนาที่ผ่านมาของญี่ปุ่น) สำหรับประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจหรือการรวมศูนย์อำนาจ แบบใดจะทำให้ระบบสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ดีกว่านั้น ประเทศญี่ปุ่นได้กระจายอำนาจให้กับแต่ละจังหวัด (prefecture) และเทศบาล (municipality) ดูแลตนเองมาเป็นเวลานาน และไม่พบว่าระบบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงเกิดพายุเฮอร์ริเคนแคทรินา ในปี 2548 รัฐบาลได้ใช้การสั่งการแบบ top-down (ซึ่งสะท้อนรูปแบบการรวมศูนย์อำนาจ) แต่กลับพบว่า ล้มเหลวและล่าช้าในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน

          การสรุปบทเรียนจากกรณีประเทศไทยว่า การกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาความเอกภาพในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ และทำให้ system resilience ลดลง น่าจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป จริงๆ แล้ว ระบบที่จะมี resilience จะเป็นมีระบบที่มีความหลากหลาย (diversity) สูง 2  และด้วยเหตุผลนี้ ธรรมชาติจึงรับมือกับแรงกดดันจากภายนอกได้ดี หรือ “nature is resilient” เพราะธรรมชาติมีความหลากหลายเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน การกระจายอำนาจให้แต่ละท้องถิ่นและพื้นที่ดูแลกันเอง เป็นการเพิ่มความหลากหลายในกระบวนการบริหารจัดการ จึงน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อ system resilience ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงต้องการการวิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วน ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นไปได้ตั้งแต่

  • การขาดความชัดเจนบทบาท รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทั้งสองฝ่าย คือ ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง โดยทั่วไปปัญหาที่มีผลกระทบภายนอก (externality) ซึ่งการแก้ปัญหาที่หนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ รัฐบาลกลางต้องเข้ามาจัดการ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้มีผลกระทบภายนอกชัดเจน รัฐบาลกลางจึงต้องเข้ามา “ประสาน” การทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ประเด็นที่น่าคิด คือ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ รัฐบาลกลางเข้ามา “ประสาน” หรือ “สั่งการ” กันแน่ และหากเป็นการ “ประสาน” จริง ทำไม่จึงเกิดการ “ประสานงา” ระหว่างหน่วยงานมากกว่าความร่วมมือ
  • ประสิทธิภาพ การทำงานของกลไกต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในระดับพื้นที่ และการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อต่างๆ มากพอสมควร
  • ปัญหาความ ไม่โปร่งใสและการเลือกปฏิบัติของกลไกรัฐ หากเกิดขึ้นจริง จะทำให้กลไกของรัฐขาดความน่าเชื่อถือและได้รับยอมรับลดลง คล้ายๆ กับการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับการวิจารณ์ว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจาก พายุเฮอร์ริเคนแคทรินา

จริงๆ แล้ว ยังมีประเด็นที่คนไทยและสังคมไทย สามารถเรียนรู้ได้อีกจำนวนมากจากภัยพิบัติครั้งนี้ อย่าให้ความทุกข์ยากของคนจำนวนหลายล้านคนผ่านไป โดยที่ประเทศไทยและสังคมไทยไม่ได้ประโยชน์เลย


                            พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
                            เหยื่อน้ำท่วมรายที่ xx,xxx,xxx

 

 

------------------------------------------------------------------------------------

1.ระดับ แรงกดดันภายนอกที่แต่ละระบบจะรับมือได้ โดยไม่สูญการทำหน้าที่ตามปรกติ เรียกว่า ecological resilience ขณะที่ระยะเวลาที่ระบบฟื้นคืนสู่ระดับปรกติหลังได้รับแรงกดดันจากภายนอก เรียกว่า engineering resilience

2.นอกจาก ความหลากหลาย (diversity) แล้ว ระบบที่มี resilience จะต้องมีประสิทธิภาพ (efficiency) ความสามารถในการปรับตัว (adaptability) ซึ่งแสดงออกผ่านความโปร่งใสและความคล่องตัว/ยืดหยุ่นของกลไกสำคัญต่างๆ และความเชื่อมแน่นทางสังคม (social cohesion) ซึ่งแสดงออกผ่านความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนในสังคม

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้