ระบบสุขภาพ


ระบบสุขภาพอาจนิยามจากบทบาทหน้าที่ หรือ องค์ประกอบ
ในเชิงบทบาทหน้าที่ ระบบสุขภาพมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาวะกายและจิตที่ดี ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรค ฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย และกระบวนการสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมของสาธารณสุขในการรับมือโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ และภัยพิบัติ
นอกเหนือการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนดังกล่าวข้างต้น ระบบสุขภาพที่ดีควรเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของทุกคน ยึดมั่นในหลักศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินการ และให้ความเท่าเทียมด้านสิทธิประโยชน์แก่ชนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสม
หากมองจากความมุ่งหวังข้างต้น ระบบสุขภาพที่สมบูรณ์จึงมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แวดล้อมด้วยกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริม ฟื้นฟู และธำรงสุขภาพของประชาชน กิจกรรมเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นระบบสุขภาพ ซึ่งจำแนกแยกย่อยได้เป็น 6 ระบบ ดังนี้
- ระบบบริการ หมายถึง บริการที่ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ความสำคัญต่อการสร้างหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่เข้มแข็ง มีระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพจากหน่วยบริการที่อยู่สูงขึ้นไป
- ระบบผู้ให้บริการ หมายถึง กำลังคนที่เพียงพอ มีความรู้ มีสัดส่วนของความชำนาญที่เหมาะสม ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียมและครอบคลุม
- ระบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หมายถึง เวชภัณฑ์ วัคซีน อุปกรณ์การวินิจฉัย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัย มีระบบการขนส่งที่ดี มีข้อบ่งชี้ในการใช้
- ระบบการเงินการคลัง หมายถึง ระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ลดภาระการใช้จ่ายของภาครัฐและส่วนบุคคล ผ่านการระดมเงินทุน จัดสรร และบริหารงบประมาณที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
- ระบบสารสนเทศ หมายถึง ความพร้อมและการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา แนวโน้ม ความต้องการทางการแพทย์และสาธารณสุข และการบรรลุตัวชี้วัดในการจัดบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึง เป็นธรรม
- ระบบอภิบาล หมายถึง การกำกับดูแลให้องค์กรสุขภาพดำเนินภารกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการที่มุ่งแก้ปัญหาสาธารณสุขในปัจจุบัน และคาดการณ์ปัญหาในอนาคต
ทุกกิจกรรมหรือ “องค์ประกอบ” ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่มีปฏิสัมพันธ์ แต่ละองค์ประกอบเปรียบเสมือนระบบย่อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบสุขภาพใหญ่ แต่ละระบบย่อยยังมีระบบที่แยกย่อยลงไปอีก อาทิ ภายในระบบสุขภาพมีระบบบริการ ภายในระบบบริการมีระบบสถานบริการ ภายในระบบสถานบริการมีระบบห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
ทุกระบบทำงานเชื่อมประสาน ทั้งภายในระบบและระหว่างระบบ โดยมี คน เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ระบบจะเดินหน้าหรือถอยหลังจึงขึ้นอยู่กับ คน ซึ่งหมายรวมทุกรูปแบบ ทั้งแบบเดี่ยวและหมู่คณะ กล่าวคือ ปัจเจกบุคคล ประชาชน สมาคม องค์กร ผู้ให้บริการ ผู้บริหารสถานพยาบาล ผู้กำหนดนโยบาย
ระบบสุขภาพจึงขับเคลื่อนโดย คนในระบบ เพื่อสุขภาวะทางกายและจิตที่ดีของ คนในระบบ
หมายเหตุ ภาพประกอบดัดแปลงจาก World Health Organization. Everybody’s business: Strengthening health systems to improve health outcomes: WHO’s Framework for action. Geneva, WHO, 2007.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
- de Savigny D, Adam T, eds. Systems thinking for health systems strengthening. Geneva, WHO, 2009.
- Frenk J. The global health system: Strengthening national health systems as the next step for global progress. PLoS Medicine, 7(1):1-3, 2010.
- Gilson L, ed. Health policy and systems research: A methodology reader. Geneva, WHO, 2012.
- Golden BR, Martin RL. Aligning the stars: Using systems thinking to (re)design Canadian healthcare. Healthcare Quarterly, 2004, 7(4):34-42.
- Plsek PE, Greenhalgh T. Complexity science: The challenge of complexity in health care. BMJ, 2001, 323(7313):625-628.
- World Heath Organization. The World Health Report 2000: Health Systems: Improving performance. Geneva, WHO, 2000.
- World Heath Organization. People at the centre of health care: harmonizing mind and body, people and systems. Geneva, WHO, 2007.
- World Health Organization. Primary Health Care: Now more than ever. Geneva, WHO, 2008.
ความคิดเห็น
การแสดงแชร์
<p>1. ขอบคุณนะคะสำหรับความตั้งใจในการทำข้อมูลนะคะ เนื้อหามีความเหมาะสมกับผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านระบบสุขภาพค่ะ แต่สำหรับประชาชนทั้่วไป ยังมีความยากที่จะเข้าใจอยู่บ้างค่ะ <br />2. เอกสารเพิ่มเติมนี้ คือคนละส่วนของเอกสารอ้างอิงหรือเปล่าค่ะ อยากให้มีในส่วนของเอกสารอ้างอิงค่ะ<br />3. อยากให้มีปุ่มแชร์ในเฟชบุคค่ะ (อาจจะมีแต่ว่าหาไม่เจอหรือเปล่าก็ไม่ทราบค่ะ เพราะปกติ บทความของ สวรส.นั้น ก็แชร์ได้อยู่แล้วค่ะ)</p>
ขอบคุณสำหรับคำติชมครับ
ขอบคุณสำหรับคำติชมครับ ผู้เขียนจะพยายามปรับปรุงเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นนะครับ หรือหากมีจุดไหนที่อ่านแล้วเข้าใจยาก ผู้อ่านสามารถเขียนมาบอกได้เลยครับ
รายการเอกสารท้ายบทความนี้ มีไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะอ่านเพิ่มเติมครับ ผู้เขียนไม่ได้จัดให้อยู่ในรูปของ reference เช่นบทความวิจัยทั่วไป เพราะเหตุว่าบทความนี้้ไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นการให้ข้อมูลพอสังเขป จึงเลือกที่จะเสนอรายการเอกสารในรูปของบรรณานุกรมครับ
เรื่องปุ่ม share ใน FB ทาง IT จะตรวจดูให้นะครับว่ามีปัญหาตรงไหน
ระบบดี
ระบบดี
ระบบสุขภาพ
ระบบสุขภาพ ความหมายน่าจะครอบคลุมถึงระบบทั้งหมดที่เกียวข้องกับการจัดการปัจจัยที่มีผลต่อสุบภาพทุกด้านด้วยนะคะ
อยากทราบว่า
1.ใครเป็นคนบริหารระบบสุขภาพ
2.ข้อดี/ข้อเสียของการแบ่งระบบบริการ
ระบบสาธารณะสุขของประเทศไทยคืออะไร
คืออยากทราบว่าระบบสาธารณะสุขคืออะไรแล้วเกี่ยวข้องอะไรกับระบบสุขภาพ
การเขียนอ้างอิง
หากต้องการอ้างอิงบทความนี้ ต้องเขียนอ้างอิงอย่างไรคะ
>> อ้างอิง url ได้เลยครับ
แสดงความคิดเห็น