4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

เสนอใช้ P4P เฟ้นข้อมูลเชิงประจักษ์

เสนอใช้ P4P เฟ้นข้อมูลเชิงประจักษ์ “อุปสงค์-อุปทานด้านบริการสุขภาพ” แก้วิกฤตกำลังคน"

    จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 11 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการบรรจุข้าราชการสำหรับพยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 7,547 อัตรา โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.56 ทางคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้ยืนยันการจัดสรรอัตราข้าราชการเพิ่มดังกล่าว โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำข้อมูลภาระงานของตำแหน่งและสถานบริการสุขภาพในสังกัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอัตราข้าราชการเพิ่มใหม่ในปีงบประมาณ 2557 – 2558  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการจัดอัตรากำลังที่เหมาะสมตามภาระงานที่เกิดขึ้นจริงและการบริหารจัดการในด้านภารกิจสุขภาพของ สธ.  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านบริการสุขภาพได้อย่างคุ้มค่า



    ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในปี 2553 ระบุว่า ปัญหากำลังคนด้านสาธารณสุขยังประสบปัญหาด้านการกระจายตัวอย่างไม่สมดุล  โดยพบว่ากรุงเทพฯ ยังคงเป็นพื้นที่กระจุกตัวของกำลังคนทุกวิชาชีพ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ยกเว้นกำลังคนระดับปฐมภูมิ ซึ่งส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ใน รพ.สต. ที่ประเด็นนี้ไม่เพียงจะเป็นปัญหาเฉพาะของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น หากยังพบว่าบางพื้นที่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอื่นๆ ด้วยนอกจากนั้นยังพบว่า ยังขาดการเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วยการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน  ทำให้ไม่สามารถรักษาคนที่มีอยู่ให้อยู่ในระบบราชการตลอดไปได้  มีการไหลออกไปสู่ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง 

    “การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องถูกจัดการด้วยองค์ความรู้และข้อมูลเชิงประจักษ์   โดยการรวบรวมความต้องการและความจำเป็นด้านกำลังคนในแต่ละพื้นที่  ตลอดจนสำรวจข้อมูลภาระงานที่แท้จริงของบุคลากร  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญจำเป็นอย่างยิ่งต่อการวางแผนตลอดจนการจัดสรรบุคลากรได้อย่างเหมาะสม”

    ศ.นพ.สมเกียรติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อมูลภาระงานที่แท้จริง” ดังกล่าว  ส่วนหนึ่งน่าจะได้มาจากการดำเนินงานภายใต้แนวคิดและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน Pay-for-Performance (P4P)   ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิรูปการจัดบริการสุขภาพในหลายประเทศ  โดย  P4P จะเป็นทางหนึ่งของการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ทำให้เห็นถึงอุปสงค์และอุปทานด้านบริการสุขภาพที่แท้จริง   โดยประเทศไทย สธ. ได้นำแนวคิดนี้ไปใช้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งพบว่าสามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล  ในการใช้ศักยภาพของตนเองได้มากขึ้น มีผลิตภาพการทำงานสูงขึ้น โดยจุดอ่อนของ P4P ในประเด็นหลักใหญ่ยังคงมีอยู่ คือภาระการเก็บข้อมูล  และการนำไปใช้ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

    “การขาดแคลนกำลังด้านสุขภาพ เป็นปัญหาและภารกิจร่วมกันของทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพ  ที่ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้ปัญญาด้วยการคิดวิเคราะห์  บนการประยุกต์ใช้เครื่องมือการจัดการที่มีผลพิสูจน์ตลอดจนทฤษฎีบางอย่างรองรับที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่ง P4P จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาระยะสั้นในอันจะได้ข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อการจัดสรรกำลังกำลังคนที่เหมาะสมตามมติครม. ซึ่งได้อนุมัติกรอบอัตราไว้แล้ว  รวมทั้งในระยะยาวเครื่องมือดังกล่าวนี้จะเป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาประสิทธิภาพคนทำงานซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ต่อ

ไป  โดยประเด็นท้าทายของ สธ. คือการเชื่อมประสานให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพได้มาร่วมคิดร่วมทำภายใต้แนวคิดนี้ เพื่อได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ตอบกลับไปยัง คปร. ได้อย่างไร”

    ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในบทบาทและการดำเนินการของ  สวรส.  ในระหว่างนี้ สวรส. กำลังพัฒนาโจทย์วิจัยที่เกี่ยวกับ P4P เพื่อการศึกษาแนวทางปฏิบัติการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  รวมถึงเตรียมให้มีการจัดเวทีสานเสวนาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  เพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาตลอดจนร่วมหาทางออก  สู่เป้าหมายคุณภาพการบริการด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน”

    ในช่วงที่ผ่านมา  ในด้าน สธ. ได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภารกิจบริการด้านสุขภาพตามนโยบายกำลังคน  โดยมีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลกำลังคนของ สธ. ให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนเป็นปัจจุบันและเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ ก.พ. การทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงระบบบริการสุขภาพ ภายใต้ 4 ระบบสุขภาพ ได้แก่ ระบบบริการสุขภาพ ระบบควบคุมและป้องกันโรค ระบบสร้างเสริมสุขภาพ และระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ใน 12 บทบาท  โดยจัดตั้งคณะกรรมการ 3  คณะ ในด้านการพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวม ด้านการพัฒนาบทบาทของกรม และด้านศึกษาพัฒนาระบบสุขภาพตาม 12 บทบาท  การปรับปรุงระบบบริการสุขภาพตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ  รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารกำลังคนด้านสุขภาพ  โดยพัฒนาระบบการจ้างงานในรูปแบบพนักงานกระทรวงสาธารณสุข  ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการประเมินผลการทำงาน (Productivity improvement with Performance-based measurement) ด้วยตัวชี้วัดที่เหมาะสม ที่กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินการระบบดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2556 นี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้