ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 79 คน
ผลกระทบทางการเงินและการจัดบริการสุขภาพของสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ต่อโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข
นักวิจัย :
ตวงรัตน์ โพธะ , เกศนภา ถาวร , อรวิภา โรจนาธิโมกข์ , ถาวร สกุลพาณิชย์ , สุรชัย คำภักดี ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
27 มีนาคม 2567

ที่มา : การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 (Covid-19 Surged) และจำนวนผู้ป่วยวิกฤติที่เพิ่มขึ้นตามมาจากสถานการณ์ระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของค่าใช้จ่ายสุขภาพ (Healthcare Expenditures) การศึกษาผลกระทบทางการเงิน (Financial Impact) และการจัดบริการสุขภาพ (Health Services) ในช่วงสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แยกรายกองทุนประกันสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้กับผู้กำหนดนโยบายสุขภาพได้นำไปประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการทางการเงิน (Hospital Financing) และการจัดบริการสุขภาพของโรงพยาบาลให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งโรงพยาบาลและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนลงได้ ระเบียบวิธีวิจัย : งานวิจัยนี้ ประกอบด้วย (1) การศึกษาผลกระทบทางการเงินและปริมาณการรับบริการเฉลี่ยต่อเดือนที่แผนกผู้ป่วยนอก (Out Patient Department, OPD) แผนกผู้ป่วยใน (Inpatient Department, IPD) แผนกห้องฉุกเฉิน (Emergency Department, ED) และแผนกห้องผ่าตัด (Operation Room, OR) แยกตามกองทุนประกันสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน ในช่วงสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เทียบกับสถานการณ์ปกติ และ (2) การศึกษาแนวคิดและการดำเนินนโยบายของโรงพยาบาลในการสร้างศักยภาพสำรองในการจัดบริการสุขภาพ (Reserve Health Services Capacity) ในด้านการดูแลผู้ป่วย ด้านระบบบริการ ด้านการจัดการสถานที่ ด้านการจัดการบุคลากร ด้านการจัดการเครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์และวัสดุทางการแพทย์ และด้านอื่นๆ ในพื้นที่โรงพยาบาล จำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมในทุกระดับของสถานบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจำแนกตามโซนสีพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กระจายใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ผลการศึกษา : เมื่อเปรียบเทียบใน 3 ช่วงเวลา ดังนี้ ช่วงที่ (1) สถานการณ์ปกติ (ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ระยะเวลา 2 ปี ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2561 ถึง 31 ธ.ค. พ.ศ. 2562 ช่วงที่ (2) สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะเวลา 15 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2563 ถึง 31 มี.ค. พ.ศ. 2564 และช่วงที่ (3) สถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2564 ถึง 30 ก.ย. พ.ศ. 2564 พบแนวโน้มอย่างชัดเจนว่าโรงพยาบาลรายได้พึงได้รับต่อเดือนที่เป็นผลรวมของราคาตามอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลจากผู้ป่วยไม่เป็นโรคโควิด-19 ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้พึงได้รับต่อเดือนก่อนช่วงเกิดการระบาดและมีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางการเงินวิกฤติ 7 ระดับ (Risk Scoring) ของโรงพยาบาล ในช่วงที่ (2) ไม่แตกต่างจากช่วงที่ (1) ในขณะที่มีค่าลดลงในช่วงที่ (3) อาจเนื่องมาจากการปรับอัตราการเบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ของกองทุนประกันสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุนมีค่าเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริจาคเงินและ/หรือวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลด้วย การที่ความเสี่ยงทางการเงินของโรงพยาบาลไม่มีปัญหาหรือดีขึ้น ทั้งที่อัตราการใช้บริการและรายได้พึงได้รับจากการจัดบริการให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน เป็นเพราะการได้รับการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะระยะที่ 3 ทั้งการจ่ายเพิ่มเติม (Add-On) เป็นรายการทั้งบริการในสถานพยาบาลและบริการที่บ้าน ในส่วนของปริมาณใช้บริการที่แผนกต่างๆ ในโรงพยาบาลมีการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปรียบเทียบใน 3 ช่วงเวลาดังกล่าว ในภาพรวมพบว่า แม้ว่าปริมาณผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังมีไม่มาก แต่โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดบริการ รวมถึงการขาดองค์ความรู้ ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลในช่วงที่ (2) ลดลง สำหรับในช่วงที่ (3) ซึ่งเป็นสถานการณ์ระบาดใหญ่ ปริมาณผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ปริมาณผู้ป่วยที่ไม่ใช่โรคโควิด-19 ก็กลับมามีปริมาณเท่าๆ กัน กับช่วงที่ (1) คือ สถานการณ์ปกติ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดในแผนกผู้ป่วยนอกและแผนกห้องฉุกเฉิน ส่วนปริมาณการรับบริการที่แผนกผู้ป่วยในและแผนกห้องผ่าตัดนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เนื่องมาจากโรงพยาบาลมีความพยายามในการรักษาศักยภาพการจัดบริการใน 2 แผนกนี้ อย่างไรก็ตามการจัดบริการที่แผนกห้องผ่าตัดนั้นจะเน้นเตรียมไว้สำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน (Emergency Surgery) สรุป : สถานการณ์ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการรับบริการด้านสุขภาพ โรงพยาบาลในฐานะผู้จัดบริการสุขภาพมีความจำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อคงศักยภาพในการจัดบริการสุขภาพที่จำเป็นและมีความเร่งด่วน ควรสร้างกลไกถาวรในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับโรคอุบัติใหม่ การปรับปรุงกลไกการจ่ายเงินชดเชย การปรับกรุงอัตราการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลและปรับปรุงระบบสารสนเทศ เพื่อให้สามารถกำกับติดตามสถานการณ์การเงินการคลังอย่างสม่ำเสมอ การวางแผนเตรียมความพร้อมและแผนประคองกิจการเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาล เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคต


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6032

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้