ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 107 คน
การศึกษาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ต่อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ขนาดต่างๆ ในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
นักวิจัย :
อังสนา ภู่เผือกรัตน์ , อาคม นงนุช , บุญรัตน์ ทัศนีย์ไตรเทพ ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
9 กุมภาพันธ์ 2567

ความสำคัญและที่มา : มีการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐานในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือดนั้นมีระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มคนปกติ ทางคณะผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันภายหลังการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สองขนาด (ขนาดสูงและขนาดปกติ) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือด วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ในสองขนาด (Double Dose vs. Standard Dose) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือด โดยได้ทำการรวบรวมโรคไตเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือดจาก 3 โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2564 ถึง เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2565 ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือดและถูกสุ่มด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี กลุ่มที่สอง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน กลุ่มที่สาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสองเท่าของขนาดมาตรฐาน และกลุ่มที่สี่ วัคซีนขนาดสองเท่าของขนาดมาตรฐาน และได้รับการกระตุ้นซ้ำที่ 6 เดือนหลังฉีดครั้งแรก จากนั้นเก็บตัวอย่างเลือดก่อนฉีดวัคซีน (เดือนที่ 0), และภายหลังฉีดวัคซีน เดือนที่ 1, 6, 7 และ 12 เพื่อวิเคราะห์ระดับภูมิคุ้มกันด้านแอนติบอดี ด้วยวิธี Hemagglutination Inhibition Test และการตอบสนองภูมิคุ้มกันทางด้านเซลล์ โดยวิเคราะห์ Activation and/or Exhaustion T Cell Markers, T Cell Senescence, T Cell Subpopulation และ Recall Antigen Specific Memory T Cells Responses ด้วยเทคนิคโฟลไซโตเมทรี ผลการศึกษา : การศึกษานี้ มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 109 ราย โดยกลุ่มที่หนึ่ง อาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 25 ราย, กลุ่มที่สอง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดมาตรฐาน จำนวน 28 ราย กลุ่มที่สาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสองเท่าได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในขนาดสองเท่าของขนาดมาตรฐาน จำนวน 30 ราย และ กลุ่มที่สี่ วัคซีนขนาดสองเท่าของขนาดมาตรฐาน และได้รับการกระตุ้นซ้ำ จำนวน 26 ราย ค่ามัธยฐานของอายุอาสาสมัครทั้งสี่กลุ่ม คือ 42, 71, 73 และ 63 ปี ตามลำดับ จากการวิเคราะห์การตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน พบระดับแอนติบอดีระดับสูงต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ (HI titer มากกว่าหรือเท่ากับ 320) หลังฉีดวัคซีน 12 เดือน ในกลุ่มที่ 3 และสูงกว่ากลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=007) ประมาณ 2.5 และ 3.7 เท่า ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามการตอบสนองแอนติบอดีต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ บี ในระดับพื้นฐาน (เดือนที่ 0) มีระดับสูง จากการวิเคราะห์การตอบสนองระดับภูมิภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ที่จำเพาะต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ พบว่า ไม่พบความแตกต่างอย่างนัยสำคัญทางสถิติของการหลั่งไซโตไคน์ IFN-γ และ TNF-α จากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเซลล์เดี่ยว (Peripheral Blood Mononuclear Cells, PBMCs) ที่ถูกกระตุ้นด้วยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทั้ง 3 สายพันธุ์ ในทุกกลุ่มของการศึกษา โดยพบความถี่สูงสุดของ PBMC ที่มี IFN-γ และ TNF-α ภายในเซลล์ ณ เดือนที่ 1 เดือนหลังได้รับวัคซีน (ร้อยละ 0.60; IQR 0.30–0.66) และจะลดลงเท่ากับค่าพื้นฐานก่อนได้รับวัคซีน ณ เดือนที่ 6 เดือน หลังจากได้รับวัคซีน (ร้อยละ 0.36; IQR 0.20–0.55) จากการวิเคราะห์กลุ่มย่อยของทีเซลล์กลุ่มประชากรย่อย พบว่า ความถี่ของจำนวนทีเซลล์กลุ่มประชากรย่อย พบความแตกต่างของการแสดงออกของตัวบ่งชี้ CD4+T Cell Senescence และ Exhaustion ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับอาสาสมัครสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.032 และ p=0.025 ตามลำดับ) แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการแสดงออกของตัวบ่งชี้ T Cell Senescence และ T Cell Exhaustion ในกลุ่มที่ 2, 3 และ 4 และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของ CD8+T Cell Senescence และ Exhaustion ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยกับกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการศึกษาภาพรวมของกลุ่มเซลล์ (Whole Population of T Cells) ทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะวิเคราะห์กลไกพื้นฐานของภาวะดังกล่าวได้ ดังนั้น คณะผู้วิจัยขอเสนอแนะควรทำการศึกษากลไกพื้นฐานเชิงลึกในระดับเซลล์เดี่ยว (Single Cell Analysis) ของภาวะล้าต่อการถูกกระตุ้น (T Cells Exhaustion) และเซลล์ความจำที่มีอายุมากและเสื่อมสภาพ (T Cell Senescence) ของทีเซลล์เพื่อค้นหากลไกพื้นฐานการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอาจทำให้เข้าใจเชิงลึก ต่อการตอบสนองต่อวัคซีนต่อโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่จำเป็นในกลุ่มประชากรนี้ต่อไป สรุป : การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สองเท่าของขนาดมาตรฐาน หรือ วัคซีนขนาดสองเท่าของขนาดมาตรฐานและได้รับการกระตุ้นซ้ำ ณ เดือนที่ 6 หลังฉีดครั้งแรก มีผลกระตุ้นแอนติบอดีระดับสูงต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ เอ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบความแตกต่างในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ที่จำเพาะต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง 2 เข็ม หรือ 2 เข็ม ที่ฉีดเข็มกระตุ้นที่ 6 เดือนหลังฉีดครั้งแรกอาจช่วยป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดได้ การศึกษาองค์ความรู้เชิงลึกต่อไปในอนาคต อาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางหรือข้อแนะนำการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องได้รับการล้างไตด้วยวิธีการฟอกเลือด


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6008

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้