ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 100 คน
การสำรวจความครอบคลุมของการรับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีน Covid-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ อายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC): ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
นักวิจัย :
เตือนใจ นุชเทียน , สุทัศน์ โชตนะพันธ์ , วาสินี ชลิศราพงศ์ , ภัสราภรณ์ นาสา , วนิดา สังยาหยา , แพรวนภา พันธ์โสรี , แสนสุข เจริญกุล , พนิดา ทองหนูนุ้ย , ชุลีกร ธนธิติกร , คุณากร วงศ์ทิมารัตน์ ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
14 กุมภาพันธ์ 2567

หลักการและเหตุผล : แม้ประเทศไทยได้ให้การคุ้มครองเด็กข้ามชาติ ทั้งการจดทะเบียนและให้ใบรับรองการเกิด การให้วัคซีนป้องกันโรค แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ พบว่า มีเด็กข้ามชาติจำนวนไม่น้อยไม่มีเอกสารประจำตัว ส่วนหนึ่งมีภาวะทุพโภชนาการและจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ จึงเป็นความเสี่ยงสำหรับเด็กข้ามชาติที่อาจเจ็บป่วยจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน รวมทั้งระบบไม่ครอบคลุมเด็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงานหรืออยู่นอกระบบ เป็นต้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถทราบได้ว่าเด็กๆ เหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความครอบคลุม ปัญหาอุปสรรคและปัจจัยในการได้รับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC): จังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ ชนิดเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis Study) โดยใช้แบบสอบถามและแบบเก็บข้อมูล โดยทำการสอบถามผู้ปกครองเกี่ยวกับข้อมูลการได้รับวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนโควิด-19 และปัญหาอุปสรรค/ปัจจัยในการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงสอบถามความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยสถิติ Pearson’s Chi Square โดยนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 0.05 ผลการศึกษา : จากการเก็บข้อมูลการรับวัคซีนของเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัด จำนวน 445 คน โดยพิจารณาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน ในช่วงอายุ 0-1 ปี เพื่อประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG), วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV), คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB3), วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV3), วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) และ วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งที่ 1 (MMR1) ของเด็กอายุ 0-1 ปี ในภาพรวม 3 จังหวัด พบว่า อัตราความครอบคลุมการได้รับวัคซีน BCG และ HBV เมื่อแรกเกิดผ่านเกณฑ์ทุกจังหวัด คือ ได้ร้อยละ 96.85 และ 95.51, DTP–HB3, OPV3 และ IPV ได้ร้อยละ 90.05, 88.83 และ 81.02 ส่วนอัตราความครอบคลุมการได้รับวัคซีน MMR1 ซึ่งเกณฑ์ที่ผ่านต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 นั้น พบว่า ต่ำกว่าเกณฑ์ คือ ได้ร้อยละ 87.03 มีเพียงจังหวัดระยองที่ผ่านเกณฑ์ ได้ร้อยละ 96.80 ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กช่วงอายุ 2–3 ปี เพื่อประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กที่มีอายุครบ 2 ปี โดยในช่วงอายุที่ทำการประเมินเด็กต้องได้รับวัคซีน DTP 4 ครั้ง วัคซีน OPV 4 ครั้ง และวัคซีน LAJE 2 ครั้ง ผลการสำรวจในภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด พบว่า เด็กได้รับวัคซีน DTP 4 ครั้ง ร้อยละ 72.60 วัคซีน OPV 4 ครั้ง ร้อยละ 71.63 และวัคซีน LAJE 2 ครั้ง ร้อยละ 64.43 โดยทั้ง 3 จังหวัด มีอัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย สำหรับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กอายุ 3–4 ปี เพื่อประเมินความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กที่มีอายุครบ 3 ปี โดยในช่วงอายุที่ทำการประเมินเด็กต้องได้รับวัคซีน MMR 2 ครั้งและวัคซีน LAJE ตามเกณฑ์อายุ ผลการสำรวจในภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด พบว่า เด็กได้รับวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 ร้อยละ 67.43 และวัคซีน LAJE ตามเกณฑ์อายุ ร้อยละ 64.43 ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งสองชนิด เมื่อพิจารณาความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 0-1 ปี เด็กอายุ 2–3 ปี และเด็กอายุ 3–4 ปี พบว่า เมื่ออายุมากขึ้นความครอบคลุมจะต่ำลงเรื่อยๆ สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ยังมีความครอบคลุมอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีประวัติการรับวัคซีน เพียงร้อยละ 25.39 เท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงปัจจัย/ปัญหาอุปสรรคในการเข้ารับบริการวัคซีน พบว่า ปัจจัยด้านบุคคล ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมีผลต่อการพาบุตรหลานไปรับวัคซีน, ไม่ว่างหรือไม่มีเวลาพาบุตรหลานไปรับวัคซีน, จำวันที่ฉีดวัคซีนของบุตรหลานไม่ได้เนื่องจากพ้นกำหนดช่วงเวลาที่รับวัคซีนแล้วจึงไม่ได้พาบุตรหลานไป, ไม่ทราบว่าบุตรหลานต้องได้รับวัคซีนหรือคิดว่าได้รับวัคซีนครบแล้ว และมีการย้ายสถานที่ทำงาน/ที่อยู่อาศัย/กลับประเทศต้นทางจึงไม่ได้พาบุตรหลานไปรับวัคซีน นี่คือสิ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับบริการวัคซีนพื้นฐาน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ค่า p-value <0.05 และปัจจัยด้านการบริการ ได้แก่ สิทธิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมการรับวัคซีนและสถานพยาบาลที่ให้บริการอยู่ห่างไกล มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับบริการวัคซีนพื้นฐาน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ ค่า p-value <0.05 ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้การให้บริการของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เป็นปัญหาอุปสรรคในการมารับบริการดังกล่าว แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนของผู้ปกครอง ยังมีน้อย ส่วนความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อการให้บริการวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด พบว่า ด้านบุคลากรและความพร้อมของการให้บริการหน่วยงานมีบุคลากรเพียงพอสำหรับการให้บริการวัคซีนแก่เด็กข้ามชาติเพียง ร้อยละ 58.33 อยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ และมีปัญหาในการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติ ถึงร้อยละ 80.56 สรุปผลการศึกษา : จากการศึกษาในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มเด็กข้ามชาติอายุไม่เกิน 12 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัด ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขควรมีการเร่งรัดการประชาสัมพันธ์และควรมีการลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อติดตามให้กลุ่มเด็กเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการวัคซีนได้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้บริการวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แพร่กระจายมาสู่เด็กไทยในอนาคต


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6010

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้