ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 195 คน
การประเมินประสิทธิภาพการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส-2019 พื้นที่เขตสุขภาพ 10
นักวิจัย :
ปวีณา ลิมปิทีปราการ , พลากร สืบสำราญ , นิยม จันทร์นวล , อนันต์ ไชยกุลวัฒนา , ชลลดา ไชยกุลวัฒนา , จงกลนี ศิริรัตน์ , วินัย วงศ์อาสา , วิชิต พุ่มจันทร์ , สงกา สามารถ ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
15 กุมภาพันธ์ 2567

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ที่ผ่านมา เขตสุขภาพที่ 10 โดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 10 ร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร จังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดมุกดาหาร ได้พัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพเฉพาะพื้นที่ระดับเขตในประเด็นการขับเคลื่อนธรรมนูญตำบลสู้โรคโควิด-19 โดยได้เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 เน้นการประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดทำธรรมนูญ มีการสร้างกลไกระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ในการสนับสนุน ติดตามในการขับเคลื่อนกระบวนการธรรมนูญตำบลสู้โรคโควิด-19 ซึ่งงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พื้นที่เขตสุขภาพ 10 ในรูปแบบของธรรมนูญตำบลสู้โรคโควิด-19 เพื่อศึกษากลไกการทำงานขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพธรรมนูญรวมถึงให้ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) โดยประยุกต์ใช้แนวทางการประเมินตามทฤษฎีแนวร่วมชุมชน Community Coalition Action Theory, CCAT ของ Butterfoss & Kegler แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณกับกลุ่มแกนนำทีมธรรมนูญสุขภาพที่เป็นคณะทำงานระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล จำนวน 2,451 คน เพื่อประเมินคุณค่าการดำเนินงานตามแผนกิจกรรมเกี่ยวกับการรับรู้ การมีส่วนร่วม ระดับความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานธรรมนูญสุขภาพกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้แบบสอบถาม ระยะที่ 2 เป็นการศึกษาเชิงประเมิน เก็บข้อมูลกับกลุ่มแกนนำทีมธรรมนูญสุขภาพที่เป็นคณะทำงานระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและระดับตำบล จำนวน 406 คน โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์เนื้อหา ตีความสร้างข้อสรุปข้อมูล ระยะเวลาในการวิจัยตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565-ตุลาคม พ.ศ. 2566 ผลการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ 1) การประเมินผลประสิทธิภาพกระบวนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการรับรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานธรรมนูญสุขภาพอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด คือ รับรู้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัญหาของคนทุกคนที่ต้องร่วมมือช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา (Mean=4.37, SD=0.69) การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสุขภาพอยู่ในระดับมากเกือบทั้งหมด โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด คือ มีส่วนร่วมในการทำประชาคม เพื่อวิเคราะห์ปัญหารับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ (Mean=3.93, SD=0.85) ในส่วนของผลผลิตของการขับเคลื่อนงานธรรมนูญสุขภาพอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อที่มีคะแนนสูงสุด คือ ทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานบริการของรัฐอย่างทันท่วงที (Mean=4.21, SD=0.76) และระดับความสำเร็จของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 8.34 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน 2) กลไกการทำงานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการใช้กลไกของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ โดยเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับธรรมนูญว่ามีความหมาย มีประโยชน์และมีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญ โดยตั้งแกนนำที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อน (หาคน) จากนั้นจึงเกิดเป็นการจัดตั้งทีมคณะทำงานขึ้น (หาทีม) ที่ประกอบด้วย ทีมคณะอำนวยการ ทีมยกร่างธรรมนูญ ทีมประชาคมและทีมติดตามประเมินผล มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละทีมอย่างชัดเจนต่อด้วยการกำหนดประเด็นขับเคลื่อน (หาเรื่อง) ซึ่งก็คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเริ่มการยกร่างธรรมนูญ (หาร่าง) เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางหรือข้อบังคับให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม หลังจากได้ร่างธรรมนูญแล้วจะมีการนำข้อบังคับเหล่านั้นไปประชาคม ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น หากเห็นชอบก็ทำการประกาศใช้ธรรมนูญ แต่หากยังไม่เรียบร้อยก็นำกลับมาแก้ไขและทำการประชาคมใหม่จนเป็นกติกาที่ยอมรับร่วมกัน เมื่อธรรมนูญประกาศใช้แล้วก็ลงไปติดตามในพื้นที่ โดยใช้รูปแบบการติดตามเยี่ยมบ้านเชิงรุก เพื่อสำรวจปัญหาในการนำข้อบังคับไปปรับใช้และนำกลับมาทบทวนแก้ไขต่อไป 3) แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพธรรมนูญสุขภาพกับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ควรมีการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการนำธรรมนูญไปใช้ในพื้นที่โดยบูรณาการในแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้นำไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ มีการพัฒนาหลักสูตรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพ ทั้งกับบุคลากรภาครัฐและกับประชาชนทั่วไป โดยเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์หรือเพจสื่อออนไลน์ของหน่วยงานรัฐและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนให้ง่ายต่อการทำงานในสถานการณ์วิกฤติ เช่น เรื่องของการสนับสนุนงบประมาณ แม้หลักของธรรมนูญจะเน้นการให้ความร่วมมือโดยสมัครใจ แต่ก็ควรมีบทลงโทษของคนที่ไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญที่มีผลชัดเจนร่วมด้วย 4) ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ รูปแบบของธรรมนูญตำบลสู้โรคโควิด-19 ถือเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่ให้คนในพื้นที่มาร่วมกำหนดกติกา ทิศทางในชุมชน แต่ยังพบว่า ระบบที่ดำเนินการอยู่เดิมนั้นยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ในเชิงนโยบายควรกำหนดให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จัดทำเป็นหลักสูตรธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ สำหรับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานระดับท้องถิ่นที่ต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือ เน้นสร้างกลไกของทีมคณะทำงานมากกว่าเน้นการยึดโยงกับตัวบุคคล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการโยกย้ายตำแหน่งหรือสับเปลี่ยนสถานที่ทำงานของบุคลากร กระทรวงศึกษาธิการควรเพิ่มการให้ความรู้ลงไปในระดับเยาวชนโดยจัดทำเป็นหลักสูตรที่สอนในโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นายอำเภอควรผลักดันให้คณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลไกหลักที่มีบทบาทสำคัญและสามารถขับเคลื่อนให้มีการใช้เครื่องมือธรรมนูญโดยไม่เน้นพัฒนาแค่มิติด้านสุขภาพ แต่สามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป สรุปได้ว่า ธรรมนูญตำบลสู้โรคโควิด-19 เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพ 10 ได้ ส่งผลทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและยั่งยืน สะท้อนให้เห็นการดำเนินงานตามกลไกของธรรมนูญสุขภาพว่าสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบแนวตั้งและแนวราบที่มีอยู่ในระบบได้ และสามารถนำไปต่อยอดในการจัดการภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีที่มีโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรงคล้ายๆ กับโรคโควิด-19 ได้


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6011

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้