ข่าว/ความเคลื่อนไหว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิดการประชุม "VBHC for Remission: ก้าวใหม่เพื่อสุขภาพที่มีค่า” พร้อมบรรยายพิเศษหัวข้อ “VBHC ทางออกของระบบสุขภาพไทย กับ DM Remission” ซึ่งเป็นการประชุมภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์รียนรู้เพื่อการขยายผลในโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยเน้นภาวะโรคสงบ (DM Remission) และการควบคุมน้ำหนักตัว บนฐานแนวคิดการจัดบริการแบบมุ่งเน้นคุณค่า (Value-based Health Care: VBHC) ที่เน้นผลลัพธ์ที่ดีเมื่อเทียบกับต้นทุน และสนับสนุนให้ผู้ป่วยจัดการสุขภาพด้วยตนเอง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน จากโรงพยาบาลเครือข่ายจำนวน 45 แห่ง รวมทั้งมีโรงพยาบาลต้นแบบเรื่อง DM Remission ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และจุดประกายแนวทางสร้างการดูแลเบาหวานแนวใหม่ เช่น รพ.สมเด็จพระยุพราชกระนวน จ.ขอนแก่น รพ.บางบางระกำ จ.พิษณุโลก รพ.เพชรบูรณ์ รพ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี รพ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ฯลฯ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2568 ณ ห้องแซฟไฟร์ 204-205 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สวรส. กล่าวว่า ระบบสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า (VBHC) เน้นเรื่องการป้องกันและการดูผลลัพธ์ในภาพรวมเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่จะนำไปสู่การมีระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยถูกตั้งคำถามจากวารสาร The Economist ว่า “Why is Thai health care so good?” เนื่องจากระบบสาธารณสุขประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยวัดจาก Life expectancy หรือ อายุโดยเฉลี่ยของประชากรที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อเทียบ Life expectancy ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานั้น มีจำนวนปีของ Life expectancy ที่ใกล้เคียงกันมาก แต่จำนวนงบประมาณแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยสหรัฐลงทุน 12,000 เหรียญต่อคนต่อปี ไทยใช้ 300 เหรียญต่อคนต่อปี ต่างกัน 40 เท่า แต่ได้ผลใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ ผอ.สวรส. ยังชี้ให้เห็นสถานการณ์สำคัญที่กำลังคุกคามประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาด ทำให้สังคมต้องแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยพบว่า ความชุกของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจตามมา อัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลง ส่งผลให้สัดส่วนประชากรลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นการพัฒนาเชิงระบบ จึงจำเป็นต่อการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งต้องมีการพัฒนาและเชื่อมโยงทุกมิติไปด้วยกัน ทั้งระบบบริการสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ การเงินการคลังด้านสุขภาพ ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ยาและเทคโนโลยี การอภิบาลระบบสุขภาพ และระบบสุขภาพชุมชน ควบคู่กับการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation: DE) ซึ่งเป็นการประเมินที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างทาง และการให้ข้อมูลที่ช่วยลดการเกิดปัญหาต่างๆ ในอนาคต
“VBHC เป็นแนวคิดในการให้บริการสุขภาพที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับภาวะคุกคาม ทั้งเรื่องสังคมผู้สูงอายุ และ NCDs ได้อย่างเข้มแข็ง และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพได้ ซึ่งอาจหยิบยกเรื่อง DM Remission มาทำให้เป็นนโยบายและดำเนินการให้ชัดเจน เพื่อทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้แนวคิด VBHC ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของคุณค่าที่ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปด้วย เช่น ความสุขของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ความเชื่อใจ เชื่อมั่น ศรัทธา ความร่วมมือ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสะท้อนเป็นตัวเลขได้ แต่มีคุณค่าและสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพได้เช่นกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้