4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.เคี่ยวเข้ม พร้อมเร่งป้อนนักวิจัย New Gen สร้างวิจัยคุณภาพ พัฒนาระบบและนโยบายสุขภาพของประเทศ

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านการวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ (Capacity Strengthening of New Generation of Health Policy and Systems Research: New Gen-HPSR) ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการสนับสนุนระบบวิจัย โดยการสร้างศักยภาพของนักวิจัยด้านการวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ ตลอดจนเพิ่มจำนวนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และพร้อมที่จะสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสุขภาพบนหลักฐานเชิงประจักษ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีวิทยากรมากประสบการณ์ด้านการวิจัยร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ อาทิ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน นพ.ภานุวิชญ์ แก้วกำจรชัย คณะแพทยศาสตร์โงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.นพ.กิตติพันธุ์ ฤกษ์เกษม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งการอบรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย. 2568 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีงบด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ประมาณ 1% กว่าๆ ของ GDP  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังน้อยอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วที่มีประมาณ 4-5% สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังนำทรัพยากรมาจัดสรรในเรื่อง R&D น้อยมาก ซึ่งถ้ายังไม่สามารถเพิ่มงบวิจัยของประเทศได้ แต่ละแหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัยอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นการจัดการงบที่มีน้อย ให้เกิดคุณภาพมากที่สุด ซึ่งการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จะเป็นอีกส่วนสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับงานวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพของประเทศ ทั้งนี้โลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มาจากสังคมผู้สูงอายุและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เท่านั้น แต่มาจากเทคโนโลยีที่แพงขึ้นด้วย ดังนั้นงานวิจัยจึงมีความจำเป็น และนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นความหวังที่จะช่วยรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 

          นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า นอกจากงบประมาณวิจัยที่มีอยู่จำกัด งานวิจัยในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง เช่น งานวิจัยยังมุ่งเป้าไม่ชัดเจน และไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ตามไม่ทันสถานการณ์หรือความเปลี่ยนแปลง และไม่ตอบโจทย์ในภาวะวิกฤต ขาดระบบการบูรณาการเพื่อให้เกิดผลกระทบสูง ไม่มีระบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ขาดกลไกเชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบาย ฯลฯ ดังนั้นความเข้าใจในระบบสุขภาพ ทั้งด้านการแพทย์และการสาธารณสุข เป็นฐานคิดสำคัญในการออกแบบงานวิจัย รวมถึงการจัดทำแผนที่วิจัยช่วยให้เห็นโจทย์ที่ถูกต้องและแนวทางที่ชัดเจน ตลอดจนวิธีคิดในการแก้ปัญหา ถ้าใช้วิธีการแบบเดิมๆ อาจแก้ปัญหาไม่ได้หรือได้ผลเหมือนเดิม ดังนั้นควรใช้วิธีใหม่ๆ เพื่อโอกาสของการเกิด Innovation ที่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ สวรส. จะทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมกำลังคนที่สำคัญให้กับระบบวิจัยสุขภาพและนโยบายของประเทศ

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวถึงภาพรวมของโครงการพัฒนาศักยภาพฯ และกระบวนการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า ด้วยระบบสุขภาพของประเทศไทยมีความซับซ้อน จึงต้องการหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยมาช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบาย แต่ปัจจุบันนักวิจัยด้านระบบและนโยบายสุขภาพ มีข้อจำกัดทั้งจำนวนและคุณภาพ จึงทำให้โจทย์วิจัยที่ต้องการการแก้ปัญหา ไม่สามารถหานักวิจัยมาดำเนินการได้ หรืออาจมีนักวิจัยดำเนินการ แต่งานวิจัยยังไม่มีคุณภาพมากพอที่จะสามารถนำเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปตัดสินใจจนเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ซึ่งลักษณะสำคัญของนักวิจัยควรต้องแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ คิด วิเคราะห์ด้านงานวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและเชื่อมโยงในหลากหลายมิติ ดังนั้น สวรส. จึงจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านการวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ (New Gen-HPSR) เพื่อจัดทำรูปแบบ กลไก และกระบวนการพัฒนา/กำกับติดตาม และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ฯ ควบคู่กับการมีระบบพี่เลี้ยงนักวิจัยรุ่นพี่ที่มากประสบการณ์คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ซึ่งโครงการในระยะแรก คัดเลือกนักวิจัยรุ่นใหม่โดยพิจารณาคุณสมบัติจากประสบการณ์การทำงานวิจัยระบบสุขภาพ และมีข้อเสนอโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับการสนับสนุนทุนวิจัยของ สวรส. ในปี 2568 ส่วนระยะต่อไปจะใช้วิธีเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้นักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ จะได้ร่วมเรียนรู้ใน 9 Modules สำคัญ ที่เน้นให้ความรู้ความเข้าใจในระบบและนโยบายสุขภาพ ตลอดจนการเชื่อมโยงงานวิจัยกับการขับเคลื่อนในทุกระดับของการใช้ประโยชน์ 1) ระบบสุขภาพของประเทศไทย (Six Building Blocks) และทิศทางระบบสุขภาพในอนาคต 2) นโยบายสุขภาพและกระบวนการสร้างนโยบาย 3) การวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ 4) การพัฒนากรอบแนวคิดอย่างเป็นระบบ 5) การมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ 6) ตัวอย่างงานวิจัยนโยบายและระบบสุขภาพ และกรณีศึกษานโยบายต่างๆ 7) การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย การนำงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการเชิงนโยบายและการปฏิบัติ 8) พื้นฐานการทำวิจัย 9) การบริหารจัดการโครงการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีการติดตามประเมินผล พร้อมกับสร้างเครือข่ายและชุมชนนักวิจัย HPSR ในเวลาเดียวกัน

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้