ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ สำหรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2567 นี้ มี 2 ระเบียบวาระที่พิจารณารับรองในงาน ได้แก่ 1) พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ โดยมีสาระสำคัญในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจัดการกำลังคน ทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ เข้ามาหนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2) การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีสุขภาวะ ทั้งนักท่องเที่ยวและพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมร่วมกันบูรณาการทุกภาคส่วน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน ทั้งนี้มีผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งทางระบบ online และ on-site กว่า 1,300 คน ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ด้านระเบียบวาระพิจารณาประเด็น “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้แสดงถ้อยแถลงร่วมขับเคลื่อนร่างมติดังกล่าว โดยมี ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แสดงถ้อยแถลงในนามของ สวรส. ความตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายในลักษณะ Bottom Up เกี่ยวกับการท่องเที่ยวแนวใหม่นี้ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical and Wellness Hub โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นความปลอดภัยในทุกมิติ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งในมุมมองเชิงวิชาการ ควรมีการสร้างองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ความคุ้มค่าในการลงทุน แผนธุรกิจและการตลาด ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ด้านพัฒนาสังคมชุมชนและท้องถิ่น เพื่อนำผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการบริการด้านสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมกันนี้ควรมีการส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย และธุรกิจ Startup ด้านการบริการเชิงสุขภาพ และควรมีแนวทางการเพิ่มศักยภาพและการแข่งขันของผู้ประกอบการในระดับสากล และในฐานะที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสมัชชาสุขภาพด้านเครือข่ายวิชาการ ดังนั้นในการขับเคลื่อนมตินี้ สวรส.อาจสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับด้านอุปสงค์ อุปทาน และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการจากมติสมัชชานี้ ไปปรับปรุงและเสริมสร้างประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามมตินี้ต่อไปในอนาคต
สำหรับในช่วงของการพิจารณาระเบียบวาระดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่น่าสนใจอย่างกว้างขวาง อาทิ การท่องเที่ยวแนวใหม่ควรต้องสร้างสมดุล และเพิ่มมิติเรื่องการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มเรื่องการป้องกันความเสี่ยง เช่น ถ้านักท่องเที่ยวนำโรคติดต่อต่างๆ มาด้วย จะป้องกันอย่างไร ควรสนับสนุนให้ชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ได้เป็นคนบริหารจัดการดูแลทรัพยากรของชุมชนด้วยตนเอง เรื่องการท่องเที่ยวเป็นหัวข้อการดำเนินงานของหลายกระทรวง เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีหลายมิติ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สุขภาพ เกษตร ฯลฯ ดังนั้นแต่ละกระทรวงควรบูรณาการการขับเคลื่อนร่วมกัน งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีอยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร การท่องเที่ยวควรคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดการขยะที่เป็นผลจากการท่องเที่ยว การจัดการเรื่องความปลอดภัยทั้งด้านทรัพย์สิน อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ ซึ่งชุมชนสามารถเข้ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งภาวะโลกร้อน โรคระบาด ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาการท่องเที่ยวแนวใหม่ ฯลฯ
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวได้มีการเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ท่องเที่ยวมีคุณค่าและความปลอดภัย และมุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ” พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน โดยดำเนินการผ่านการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน การยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน รวมทั้งเป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว การกำหนดให้มีมาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและชุมชน และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับด้านอุปสงค์ อุปทาน และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้