4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. ระดมเครือข่ายนักวิจัย-ผู้ปฏิบัติงาน ประมวลสถานการณ์ถ่ายโอน รพ.สต. อย่างเป็นระบบ พร้อมใช้วิจัยเป็นฐาน เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง-ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

          การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งสำคัญผ่านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่ามีข้อมูลวิชาการและงานวิจัยที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและลดช่องว่างของการพัฒนาในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น-ไร้รอยต่อ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนผู้รับบริการ และมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วยข้อมูลวิชาการ ตลอดจนสังเคราะห์ข้อเท็จจริงในมิติต่างๆ เป็น “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ประกอบการตัดสินใจด้านนโยบาย และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา สวรส. และมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล/ประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งจุดแข็งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายทั้งจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการสะท้อนสถานการณ์ถ่ายโอนฯ ด้วยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยหน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ Health System Intelligent Unit (HSIU): กรณีการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง onsite และ online กว่า 150 คน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ฉายภาพระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยว่า 2 ภาวะคุกคามสำคัญต่อระบบสุขภาพไทย ได้แก่ 1) การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว 2) การระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสิ่งที่ รพ.สต. และ อบจ. ต้องคำนึงถึง เพราะต้องจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าว และในอนาคต อบจ. ควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค รวมถึงการควบคุมโรค โดย อบจ. จะเข้ามาเป็นอีกกลไกหนึ่งในการวางแผนการป้องกันโรคและบริหารจัดการการดูแลสุขภาพประชาชนในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในพื้นที่ โดยสามารถแบ่งระดับบริการสุขภาพเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) ป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ ที่เน้นการลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ 2) ป้องกันโรคระดับทุติยภูมิ ที่เน้นการคัดกรองโรคได้เร็ว สำหรับกลุ่มผู้ป่วย/กลุ่มคนพิการ 3) ป้องกันโรคระดับตติยภูมิ ที่เน้นการคัดกรองโรค เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรค ซึ่งเชื่อว่าการประชุมเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนฯ จะเป็นเวทีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลในพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด 

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่า เมื่อนโยบายเปลี่ยน สิ่งสำคัญที่ต้องมีการติดตามและประเมินผลคือ ผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยจะทำให้สามารถนำมาวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการจัดรูปแบบบริการ การสนับสนุนงบประมาณ การจัดการกำลังคน ฯลฯ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เกิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นข้อมูลอย่างชัดเจน นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนฯ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญ และที่ อบจ. ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นคือ การบริหารจัดการที่มุ่งไปสู่การลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และควรสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดูแลสุขภาพตนเอง และมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันโรค ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ และลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศ ซึ่งงานวิจัยของ สวรส. ที่ได้มีการดำเนินงานและนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จะยังเกาะติดสถานการณ์ และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนต่อไป  

          ในด้านสถานการณ์การถ่ายโอนฯ ดร.สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และนักวิจัยเครือข่าย สวรส. หนึ่งในคณะทำงาน HSIU ได้ให้ข้อมูลสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ว่า ในปีงบประมาณ 2567 มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. เพิ่มอีก 13 จังหวัด จากที่ทยอยถ่ายโอนฯ ไปแล้ว 49 จังหวัด รวมเป็น 62 จังหวัด โดยปัจจุบันมี รพ.สต. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 5,598 แห่ง, สังกัด อบจ. 4,196 แห่ง และสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล 84 แห่ง ทั้งนี้สถานการณ์การถ่ายโอนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และมีความหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งหน่วย HSIU เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และสนับสนุนข้อมูลวิชาการสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนหนึ่งของข้อมูลได้มีการนำเสนอในรูปแบบของ Dashboard ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้ที่ https://hsiu.hsri.or.th นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากลไกให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่าง ฝ่ายนโยบาย เครือข่ายนักวิชาการ และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน ส่วนด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนฯ และสนับสนุนงานวิจัยโดย สวรส. ปัจจุบันมีทั้งหมด 48 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ลงไปศึกษาในพื้นที่ 50 จังหวัด จาก 62 จังหวัดที่มีการถ่ายโอน ทั้งในด้านระบบข้อมูลสุขภาพ, หลักสูตรการพัฒนา, การบริหารจัดการยา, การจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ ทั้งนี้มีจำนวนผู้เข้ามาใช้งาน Dashboard ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ถึง ก.ย. 2567 จำนวน 8,079 ครั้ง 

          ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการประชุมได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้ประเด็น ‘การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขกับความท้าทายของระบบบริการปฐมภูมิผ่านมุมมองผู้ปฏิบัติงาน’ โดยห้องย่อยที่ 1 เรื่อง การอภิบาลระบบและระบบกำลังคน สรุปตัวอย่างปัญหา/อุปสรรคด้านการอภิบาลระบบ เช่น กฎระเบียบไม่ชัดเจน ทำให้การตีความมีความแตกต่างกัน, กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) มีการดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ฯลฯ ด้านกำลังคน เช่น กำลังคนไม่เพียงพอ, มีปัญหาเรื่องเกณฑ์และความล่าช้าในการพิจารณาความก้าวหน้าของตำแหน่งต่างๆ, การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ตรงตามที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ โดยมีข้อเสนอต่อโจทย์วิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ เช่น การพัฒนาระบบการจัดการด้านจริยธรรมการวิจัยในการสนับสนุนความก้าวหน้าในตำแหน่งต่างๆ ฯลฯ สำหรับห้องย่อยที่ 2 เรื่อง ระบบบริการและระบบยาและเวชภัณฑ์ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ ในอนาคต อบจ. ควรสามารถจัดซื้อยาได้เองทุกประเภท ภายใต้มาตรฐานที่กำหนด, อบจ. สามารถเป็นแม่ข่ายในการจัดซื้อยาในภาพรวมจังหวัด เพื่อช่วยลดภาระของคลังยาและการเบิกจ่ายเงิน โดยมีวิชาชีพเภสัชกรร่วมเป็นคณะกรรมการจัดซื้อยา, ควรมีการกำหนดกรอบบัญชียาให้ตรงกับศักยภาพการจัดบริการ, กรณียาเร่งด่วน หรือยาที่มีความจำเป็นเฉพาะ ให้มอบอำนาจกับ รพ.สต. ที่ต้องการใช้ ให้สามารถจัดซื้อยาเอง เพื่อป้องกันปัญหาความล่าช้าในการจัดซื้อ และยาเหลือใช้ ฯลฯ โดยมีข้อเสนอต่อโจทย์วิจัยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ เช่น การพัฒนากลไก กสพ., การศึกษาระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อยาโดย อบจ. ได้อย่างมีคุณภาพ ฯลฯ และห้องย่อยที่ 3 ระบบการเงินการคลังและระบบส่งต่อข้อมูล เครือข่ายฯ สะท้อนข้อมูลว่า อบจ. และ สสจ. ต้องดำเนินการบริหารจัดการ รพ.สต. ในภาพรวมร่วมกัน และ อบจ. ควรทำข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับ สสจ. เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ รพ.สต. ทั้งในด้านการพัฒนาฐานข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงความร่วมมือในการสนับสนุนครุภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์จากโรงพยาบาลแม่ข่ายอย่างเป็นระบบ 

รูปภาพเพิ่มเติม
mulOMpUR
01 ต.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


dwUQQUrL
03 ต.ค. 67
หัวข้อ

1

รายละเอียด

20


แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้