4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

พลิกโฉมระบบสุขภาพได้จริง ต้องอิงวิจัยเป็นฐานเชิงประจักษ์ พร้อมผลักสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย

          เวทีเสวนาภายใต้การประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2567 หัวข้อ “คุณค่างานวิจัยในการพลิกโฉมระบบสุขภาพ” นักวิจัยสะท้อนชัด ผลลัพธ์งานวิจัยมีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมระบบสุขภาพได้จริง และมีการนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยในหลากหลายประเด็นโดยนักวิจัยเครือข่าย สวรส. 

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ความเห็นเกี่ยวกับเวทีครั้งนี้ว่า การพลิกโฉมระบบสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพเรื่องต่างๆ ซึ่งงานวิจัยระบบสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการให้ระบบสุขภาพสามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ของสังคม และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวทีเสวนาดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นและความสำคัญ ตลอดจนตัวอย่างงานวิจัยเชิงระบบต่างๆ ที่ช่วยพลิกหรือเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดีขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัยมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ รวมถึงนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยเชิงระบบที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ อาทิ งานวิจัยการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบเอ บี และซี ในประเทศไทย, งานวิจัยข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, การสร้างและจัดการองค์ความรู้สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2566: สถานการณ์ ความก้าวหน้า ความท้าทายและก้าวต่อไปในอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย เป็นต้น

          ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า หากงานวิจัยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะสร้างผลกระทบ และนำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงานเชิงนโยบาย จะต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อร่วมกันกำหนดโจทย์วิจัย โดยควรเน้นโจทย์วิจัยเชิงระบบที่จะสามารถสร้างผลกระทบในระยะยาวเป็นหลัก แต่ก็ต้องไม่ละทิ้งโจทย์วิจัยที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย และเมื่อได้โจทย์วิจัยที่เหมาะสมแล้ว กระบวนการวิจัยระหว่างทาง ควรมีการรายงานความคืบหน้า และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ ซึ่งถ้ามีการดำเนินงานอย่างครบวงจร เมื่องานวิจัยเสร็จสิ้นกระบวนการ ก็จะสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง 

          รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานร่วมกับ สวรส. ในการศึกษาวิจัย เรื่อง “การประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการวิจัยระบบสุขภาพ เพื่อสร้างระบบสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะสนับสนุนการบริการสุขภาพในประเทศไทย” โดยพบว่า การจัดทำนโยบายขาขึ้น มีทั้งหมด 5 กระบวนการ ได้แก่ 1) การกำหนดวาระ ซึ่งควรเป็นวาระทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นวาระของผู้บริหาร 2) การกำหนดนโยบาย 3) มีกระบวนการในการช่วยสนับสนุนการตัดสินใจที่ดี 4) การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 5) การติดตามผลและประเมินผล ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำและมักไม่มีการพูดถึงเท่าที่ควร คือปัญหาการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่อิงกับข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยในหลายประเทศทั่วโลกแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ห้องปฏิบัติการนโยบาย หรือ Policy Lab ด้วยการใช้กระบวนการวิจัยเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วมมาประยุกต์ใช้ในการจัดทำนโยบายสาธารณะ

          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบเอ บี และซี ในประเทศไทย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. กล่าวตอนหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ทุกประเทศจัดทำนโยบายลดการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูกให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 โดยกำหนดว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เป็นพาหะ ต้องมีจำนวนน้อยกว่า 0.1% ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์ครั้งล่าสุด พบว่าประเทศไทยยังทำไม่สำเร็จ จึงนำมาสู่การดำเนินงานวิจัยดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการขจัดไวรัสตับอักเสบ ตามยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565-2573 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นในระบบสุขภาพไทยต่อ WHO 

          ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ความสำคัญของการวิจัยประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีฯ เป็นไปเพื่อทำให้ทราบข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ต่อยอดจากงานวิจัยที่ทำมาทุกๆ 10 ปี รวมถึงติดตามการดำเนินงานฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบที่ดำเนินงานมาแล้วราว 30 ปี ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยมุ่งหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ป้องกันโรคตับอักเสบ เพื่อติดตามความก้าวหน้างานป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และประสิทธิภาพของการให้วัคซีนตับอักเสบบีในประชากรไทย ทั้งนี้ได้คัดเลือกพื้นที่การศึกษาจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา และตรัง โดยผลการศึกษาพบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราการป่วยเป็นโรคตับอักเสบ บี 0% ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ

          ดร.ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล นักวิจัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในฐานะทีมวิจัยโครงการ “การสร้างและจัดการองค์ความรู้สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2566: สถานการณ์ ความก้าวหน้า ความท้าทายและก้าวต่อไปในอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย” ภายใต้การสนับสนุนของ สวรส. กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพของประเทศไทย โดยอ้างอิงจากเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 3.8 ระบุว่า ต้องบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ด้วยการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ โดยมี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 3.8.1 ความครอบคลุมของบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น และ 3.8.2 ประชาชนต้องไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทย เมื่อปี 2564 พบว่า ตัวชี้วัดที่ 3.8.1 ได้ร้อยละ 82 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ ร้อยละ 68 ส่วนตัวชี้วัดที่ 3.8.2 พบว่ามีครัวเรือนในประเทศไทยที่ล้มละลายจากการรักษาสุขภาพ เพียงร้อยละ 2.1 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศบังคลาเทศ ประเทศพม่า ซึ่งตัวอย่างข้อมูลสถานการณ์หรือองค์ความรู้ในลักษณะนี้ มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายและการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต

          ดร.นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้มีแพทย์ไปปฏิบัติงานประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในทุกพื้นที่ นำมาสู่การตั้งคำถามและความกังวลของบุคลากรการแพทย์ จึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัย “ข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ภายใต้การสนับสนุนของ สวรส. เพื่อศึกษาข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะสามารถขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากการศึกษาวิจัย นำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ การพัฒนาเครือข่าย รพ.สต. ที่สามารถครอบคลุมประชากรได้ทั้งหมด 3 หมื่นคน โดยให้ รพ.สต. ขนาดใหญ่เป็นแม่ข่าย ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายถึง 2,000 เครือข่าย ส่งผลต่อความสามารถในการขยายบทบาทภารกิจ อันจะส่งผลให้เกิดการแบ่งเบาความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องมีการวางแผนการผลิตบัณทิตแพทย์เพื่อชุมชน ให้มีสมรรถนะและความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมด 20 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ในช่วงเวลา 10 ปีแรก ให้มีการผลิตแพทย์เพื่อชุมชน ปีละ 200 คน และระยะที่ 2 ในช่วงเวลา 10 ปีต่อมา ให้ผลิตแพทย์เพื่อชุมชนออกมา ปีละ 400 คน รวมทั้งหมดเป็น 6,000 คน ที่จะสามารถปฏิบัติงานในเครือข่าย รพ.สต. ทั้ง 2,000 แห่งทั่วประเทศ ในสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1 หมื่นคน โดยประมาณการงบประมาณที่ใช้ทั้งหมด 1.7 หมื่นล้านบาท

รูปภาพเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้