งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ข้อเสนอเชิงนโยบายการกำกับและประเมินผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรณีศึกษา จังหวัดมหาสารคาม เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยแบบสำรวจ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 500 คน ระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องในการกำกับและประเมินผลการดำเนินงานของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. ที่มีความประสงค์ที่จะถ่ายโอน และไม่ถ่ายโอนให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม (อบจ. มค.) จำนวน 175 แห่ง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม การแสดงความคิดเห็น ผลการศึกษา ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดระบบบริการสุขภาพตามกรอบแนวคิด The Six Building Blocks of Health System พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการจัดระบบบริการสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ สถานภาพสมรส (p-value<0.001) ตำแหน่ง (p-value=0.019) การเป็นคณะกรรมการ (p-value=0.023) แหล่งข้อมูลข่าวสาร (p-value=0.024) ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการกำกับและประเมินผลการดำเนินงานของ สอน. และ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอน ได้แก่ การถ่ายโอน (p-value=0.027) สถานะการถ่ายโอน (ส่วนบุคคล) (p-value=0.006) เพศ (p-value=0.014) สถานภาพสมรส (p-value<0.001) การศึกษา (p-value=0.0043) ตำแหน่ง (p-value<0.001) ลักษณะงาน (p-value<0.001) และประสบการณ์การฝึกอบรม (p-value=0.001) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการกำกับและประเมินผลการดำเนินงานของ รพ.สต. ระหว่างกลุ่มถ่ายโอน และไม่ถ่ายโอน พบว่า ประเด็นที่มีความแตกต่างกัน (p-value<0.001) ได้แก่ ด้านความเป็นธรรมด้านการตอบสนองความต้องการ ด้านความเสี่ยงทางสังคมและการเงิน และด้านประสิทธิภาพการบริการ ข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) ด้านความเป็นธรรม ควรให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมิน รูปแบบควรเป็นการประเมินในแต่ละอำเภอ ต้องการให้มีเวทีแลกเปลี่ยนกันระหว่างทีมประเมิน เพื่อกำหนดแนวทางการประเมินร่วมกัน โดยในระยะแรก ควรประเมินผลกระทบต่อประชาชนจากระบบบริการของ รพ.สต. ที่เปลี่ยนไป เน้นการนิเทศติดตาม และแนะนำการดำเนินงานมากกว่าการประเมินผลลัพธ์ 2) ด้านการตอบสนองความต้องการ ควรเลือกตัวชี้วัดในการประเมิน เฉพาะตัวชี้วัดที่สามารถทำได้ภายใต้ภารกิจการดำเนินงานของ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. 3) ด้านความเสี่ยงสังคมและการเงิน ในช่วงเปลี่ยนผ่านควรกำกับและประเมินผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพหลายด้าน ทั้งด้านกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ และการประสานงานกับเครือข่ายบริการสุขภาพ ให้ผู้บริหารกำกับการดำเนินงานทุกอย่างให้มีความคล่องตัว สำหรับบริการแก่ประชาชน และ 4) ด้านประสิทธิภาพการบริการ ควรมีการเพิ่มโครงสร้างบุคลากร เพื่อให้มีการติดต่อประสานงานและมีผู้รับผิดชอบงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การกำกับและประเมินผล ผู้ประเมินควรเป็นผู้แทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมไปถึงประชาชนด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและควรมีคู่มือแนวทางการประเมินที่ชัดเจนและสามารถชี้แนวทางในการพัฒนาการทำงานได้ชัดเจนมากขึ้น
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้