ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 168 คน
การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกชนิด Sutureless ในผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบในประเทศไทย
นักวิจัย :
อัญชลี เพิ่มสุวรรณ , จิรวิชญ์ ยาดี ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
30 เมษายน 2567

วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ ผลกระทบด้าน งบประมาณ และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการผ่าตัด เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกชนิด Sutureless (Sutureless/Rapid-Deployment Aortic Valve Replacement, SUAVR) เปรียบเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกชนิด Conventional (Conventional Aortic Valve Replacement, CAVR) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ วิธีการศึกษา : การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์จะใช้แบบจำลองแผนภูมิต้นไม้ (Decision Tree) และแบบจำลองมาร์คอฟ (Markov Model) เปรียบเทียบการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ชนิด Sutureless (SUAVR) และการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกชนิด Conventional (CAVR) ในผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบในมุมมองทางสังคม อาศัยข้อมูลนำเข้าแบบจำลองจากการเก็บข้อมูลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราชและสถาบันโรคทรวงอก ร่วมกับ การใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล ระบบบันทึกข้อมูลและประมวลผลข้อมูลการบริการทางการแพทย์ (e-Claim database) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการทบทวนวรรณกรรม วัดผลลัพธ์ของการศึกษาในรูปต้นทุนรวมตลอดชีพ ปีชีวิตและปีสุขภาวะ ทำการปรับลดต้นทุนและผลลัพธ์ด้วยอัตราลด ร้อยละ 3 จากนั้นวิเคราะห์อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental Cost-Effectiveness Ratio, ICER) ทำการวิเคราะห์ความไวแบบทางเดียว และการวิเคราะห์ความไวแบบอาศัยความน่าจะเป็น การวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณ อาศัยข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมร่วมกับข้อมูลด้านระบาดวิทยาของประเทศไทย ทำการวิเคราะห์กรณีฐานเปรียบเทียบระหว่างสถานการณ์ที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ชนิด Conventional (CAVR) เท่านั้น (ไม่มีการผ่าตัด Sutureless) และสถานการณ์ที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ชนิด Sutureless (SUAVR) ร่วมกับการผ่าตัด Conventional (CAVR) ทำการวิเคราะห์ภาระงบประมาณรายปีของแต่ละสถานการณ์ ในระยะเวลา 5 ปี ภาระงบประมาณสุทธิซึ่งเป็นผลต่างของภาระงบประมาณของทั้ง 2 สถานการณ์และทำการวิเคราะห์ความไวการศึกษาความเป็นไปได้ อาศัยการสัมภาษณ์เชิงลึกทีมแพทย์และพยาบาลในประเด็นต่างๆ เช่น รูปแบบการให้บริการ การบริหารจัดการทรัพยากร เป็นต้น ผลการศึกษา : ผลการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์กรณีฐาน พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกชนิด Sutureless (SUAVR) มีต้นทุนรวม 1,733,355 บาท ปีชีวิต 6.19 ปี ปีสุขภาวะ 4.95 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดชนิด Conventional (CAVR) มีต้นทุนรวม 1,220,643 บาท ปีชีวิต 6.29 ปี ปีสุขภาวะ 5.18 ปี ดังนั้น การผ่าตัดชนิด Sutureless (SUAVR) มีต้นทุนรวมที่สูงกว่า แต่ให้ปีชีวิตและปีสุขภาวะน้อยกว่า จึงจัดเป็นมาตรการด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผ่าตัดชนิด Conventional (CAVR) ผลการวิเคราะห์ความไวแสดงให้เห็นว่าค่าอรรถประโยชน์ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทั้ง Conventional (CAVR) และ Sutureless (SUAVR) มีผลต่ออัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่มเมื่อวิเคราะห์ภาระงบประมาณ พบว่า ภาระงบประมาณเฉลี่ยต่อปีของสถานการณ์ที่ 1 (ไม่มีการผ่าตัด Sutureless) เท่ากับ 579,881,017 บาท ภาระงบประมาณเฉลี่ยต่อปีของสถานการณ์ที่ 2 (มีการผ่าตัด Sutureless ร่วมด้วย) เท่ากับ 613,767,528 บาท ได้ภาระงบประมาณสุทธิเฉลี่ยต่อปีจากการใช้การผ่าตัดชนิด Sutureless (SUAVR) ทดแทนการผ่าตัดชนิด Conventional (CAVR) ในอัตราร้อยละ 4 ในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นปีละ ร้อยละ 0.5 มีมูลค่าเท่ากับ 33,886,511 บาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่มีการผ่าตัดชนิด Sutureless (SUAVR) มีค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าสถานการณ์ที่ไม่มีการผ่าตัดชนิด Sutureless (SUAVR) ภาระงบประมาณสุทธิที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากค่าใช้จ่ายของลิ้นหัวใจ (Valve and Materials) การลดราคาลิ้นหัวใจชนิด Sutureless (SUAVR) ส่งผลให้ภาระงบประมาณสุทธิลดลงได้ ผลจากการศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ พบว่า โรงพยาบาลที่สามารถทำ Open Heart Surgery ได้ จะสามารถทำหัตถการ Sutureless (SUAVR) ได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม ศัลยแพทย์โรคทรวงอกและพยาบาลห้องผ่าตัดสามารถทำหัตถการ Sutureless (SUAVR) ได้ โดยอาศัยการ Training เพิ่มเติมเล็กน้อย ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่มีศูนย์โรคหัวใจตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้ ทั้งนี้ควรกำหนดเกณฑ์หรือข้อบ่งใช้ให้ชัดเจนสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ควรได้รับการผ่าตัด Sutureless (SUAVR) ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีแผลผ่าตัดเล็ก หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับหัตถการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือผู้ป่วยที่ตรวจพบหินปูนปริมาณมากที่บริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนรากหรือส่วนวงรอบของลิ้นหัวใจเอออร์ติก หรือผู้ป่วยที่ต้องทำหัตถการซ้ำ เป็นต้น สรุปผลการศึกษา : การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ชนิด Sutureless (SUAVR) ยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มค่า หรือมาตรการด้อย เพราะมีต้นทุนสูงกว่าแต่ให้ประสิทธิผลน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติก ชนิด Conventional (CAVR) อย่างไรก็ตามการผ่าตัด Sutureless (SUAVR) มีประโยชน์กับผู้ป่วยบางกลุ่มเนื่องจากช่วยลดระยะเวลาของการผ่าตัด และจำนวนวันนอนโรงพยาบาล การพิจารณาเข้าเป็นชุดสิทธิประโยชน์มีความจำเป็น แต่ควรกำหนดการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6059

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้