การปรับปรุงผลทางคลินิกในการรักษาโรคไต ผ่านระบบทะเบียนโรคโกลเมอรูลัสในประเทศไทย

Title: การปรับปรุงผลทางคลินิกในการรักษาโรคไต ผ่านระบบทะเบียนโรคโกลเมอรูลัสในประเทศไทย
Authors: รัตนา ชวนะสุนทรพจน์ และคณะ
Issue Date: 2015
Publisher: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
Abstract
ความรู้พื้นฐาน:
โรคไตวายระยะสุดท้ายเป็นโรคที่มีอัตราทุพพลภาพ อัตราการเสียชีวิต และค่ารักษาสูงมากในระบบสาธารณสุข การป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรัง/โรคไตวายระยะสุดท้าย คือ การตระหนักรู้โรคตั้งแต่ระยะแรก และการให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามสาเหตุก่อโรค โรคไตอักเสบโกลเมอรูลัสเป็นสาเหตุของโรคไตวายระยะสุดท้ายที่พบได้บ่อยอันดับสามในประเทศไทยเหมือนกับประเทศทางตะวันตก การพัฒนาระบบทะเบียนโรคและเครือข่ายโรคโกลเมอรูลัสที่มีคุณภาพจะช่วยปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขและข้อมูลทางระบาดวิทยาที่ถูกต้อง จะช่วยสนับสนุนงานวิจัยทางคลินิกและการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์:
เพื่อพัฒนาระบบทะเบียนโรคโกลเมอรูลัสในรูปแบบเว็บออนไลน์สำหรับศึกษาระบาดวิทยาและผลลัพธ์ทางคลินิกของโรคโกลเมอรูลัสในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายโรคโกลเมอรูลัสแห่งประเทศไทยสำหรับสร้างฐานข้อมูลโรคไตอักเสบโกลเมอรูลัสของประเทศ และสนับสนุนช่วยเหลือกันในการดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างข้อแนะนำทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคไตอักเสบโกลเมอรูลัส
วิธีการ:
เครือข่ายโรคโกลเมอรูลัสแห่งประเทศไทยเริ่มต้นประกอบด้วยโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ 9 แห่ง ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมการลงทะเบียนโรคโกลเมอรูลัสในรูปแบบเว็บออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อไตธรรมชาติยืนยันโรคไตอักเสบโกลเมอรูลัสทุกรายที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี ภายหลังจากผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของแต่ละสถาบัน ข้อมูลที่เก็บ ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา ภูมิลำเนา และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้ ระดับซีรั่มครีอะตินิน อัลบูมิน คลอเลสเตอรอล ผลตรวจปัสสาวะ ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ผลตรวจทางวิทยาเซรุ่ม (serology) และผลพยาธิวิทยาทางไต ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ศึกษา ได้แก่ ภาวะโรคสงบ การกำเริบของโรค การเพิ่มขึ้นของระดับซีรั่มครีอะตินินเป็น 2 เท่า อัตราการอยู่รอดของไตและผู้ป่วย เป็นต้น
ผลการศึกษา:
ผู้ป่วยที่รวบรวมได้จำนวน 666 ราย ในช่วง วันที่ 1 ก.ค. 2557-30 มิ.ย. 2558 เป็นเพศหญิงต่อเพศ ชาย 2.16 ต่อ 1 อายุเฉลี่ย 42 ปี (18-82) ระดับซีรั่มครีอะตินินเฉลี่ย 1.4 มก./ดล. (0.4-13) อัลบูมินเฉลี่ย 2.9+0.8 กรัม/ดล. คลอเลสเตอรอลเฉลี่ย 296+118 มก./ดล. ปริมาณโปรตีนในปัสสาวะเฉลี่ย 3.2 กรัม/วัน (0-22) ผู้ป่วยมาด้วยอาการเนโฟรติกซินโดรม (nephrotic syndrome) ร้อยละ 34 อาการเนไฟรติส (nephritis) ร้อยละ 22 อาการร่วมของเนโฟรติกเนไฟรติส (nephrotic nephritis) ร้อยละ 21.7 มีการทำงานของไตผิดปกติ (ซีรั่มครีอะติ นิน > 1.2 มก./ดล.) ร้อยละ 52 พบความดันเลือดสูงเกิดใหม่หรือคุมยากร้อยละ 54.4 ผลตรวจทางพยาธิวิทยาไต พบโรคดังต่อไปนี้ ร้อยละ 38 โรคไตอักเสบลูปัส ร้อยละ 17.6 โรค IgA nephropathy (IgAN) ร้อยละ 9 โรค focal segmental glomerulosclerosis (FSGS) ร้อยละ 8.9 โรค membranous nephropathy (MN) อายุเฉลี่ยของ โรคทั้งสี่ตามลาดับ คือ 34, 38, 46 และ 50 ปี ระดับซีรั่มครีอะตินินเฉลี่ยขณะตรวจชิ้นเนื้อไตเรียงตามลำดับ คือ 1.9, 2.4, 2.4 และ 1.1 มก./ดล. เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านเวลาผลลัพธ์ทางคลินิกจึงยังไม่ได้แสดง ณ ขณะนี้
บทสรุป:
การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าโรคที่พบบ่อยสุด 3 อันดับแรกจากผลชิ้นเนื้อไต ได้แก่ โรคไตอักเสบลูปัส, IgAN และ FSGS เป็นผู้ป่วยอายุไม่มากอยู่ในวัยทำงาน และมีการทำงานของไตผิดปกติตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อไต ซึ่งอาจเป็นผลจากความรุนแรงของโรคเอง หรือ ความล่าช้าในการตรวจชิ้นเนื้อไตซึ่งอาจเกิดจากความพร้อมในการตรวจชิ้นเนื้อไตที่จำกัดในบางโรงพยาบาลและระบบการส่งตัวผู้ป่วย จากข้อมูลของการรักษาบำบัด ทดแทนไตในประเทศไทย พบว่า โรคไตอักเสบลูปัส, IgAN และ FSGS เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคไตอักเสบโกลเมอรูลัสที่เป็นสาเหตุของไตวายระยะสุดท้าย ดังนั้นการให้การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วร่วมกับการรักษาที่เหมาะสม น่าจะช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้
Download : hs2230.zip สมัครสมาชิกก่อนดาวน์โหลด(signup free)
(สมัครสมาชิกได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/register-hsri)
แสดงความคิดเห็น