ปัจจัยสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

Title: ปัจจัยสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
Authors: ปาหนัน พิชยภิญโญ และคณะ
Issue Date: 2015
Publisher: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
Abstract
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยเพื่อ
- สำรวจพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 10) และกลุ่มเสี่ยงสูง (ร้อยละ 20 ขึ้นไป) ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามแผนภูมิทำนายการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอีก 10 ปีข้างหน้าขององค์การอนามัยโลก
- ศึกษาปัจจัยสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (South-East Asia: SEAR B) โดยใช้กรอบแนวคิดแบบจำลองการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ (PRECEDE-PROCEED Model)
โครงการวิจัยนี้มีสองระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1: ระยะพัฒนาเครื่องมือ
โดยระยะนี้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มด้วยการทำสนทนากลุ่ม (Focus group) กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 10 คน เพื่อสร้างมาตรวัด หลังจากนั้นส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาร่างเครื่องมือวิจัยด้านความสอดคล้องของเนื้อหากับคุณลักษณะหรือคำนิยามศัพท์ที่กำหนดและตามกรอบแนวคิดของแบบจำลองการวางแผนส่งเสริมสุขภาพ และได้ทำการทอดมาตรวัดในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 30 คนและทำการปรับมาตรวัด และทำการทดสอบอีกครั้งโดยการทอดมาตรวัดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 228 คน ข้อมูลที่ได้ทำ การวิเคราะห์ด้วยสถิติการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor analysis) เพื่อพิจารณาตัดรายข้อหากไม่จำเป็นและ กลุ่มรายข้อที่บ่งบอกว่าด้านต่างๆ ของมาตรวัด จากกระบวนการนี้ได้แบบวัดสำหรับปัจจัยสัมพันธ์จำนวน 60 ข้อและพฤติกรรมสุขภาพจำนวน 38 ข้อ
ระยะที่ 2: ระยะการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 จานวน 566 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง (เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป) จำนวน 169 คนและกลุ่มเสี่ยงต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 10) จำนวน 397 คน ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูงมีพฤติกรรมสุขภาพด้านการรับประทานอาหาร การปฏิบัติพฤติกรรมเสี่ยงและพฤติกรรมการเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังไม่แตกต่างกัน ในขณะที่ผู้ป่วยเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำมีพฤติกรรมการรับประทานยาและตรวจตามนัดที่เหมาะสมกว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง และปัจจัยการรับรู้ความสามารถของตนเองในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด การรับรู้อุปสรรคการในการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและแรงสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันทำนายการเกิดพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดประมาณ ร้อยละ 19
ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย คือ
การออกแบบบริการควรมุ่งไปที่การเสริมสร้างการรับรู้ความสามารถ ของตนเองในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและลดการรับรู้อุปสรรคในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคฯ เป็นอันดับแรกเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักในโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและส่งผลให้ ผู้ป่วยพร้อมที่จะจัดการภาวะของโรคด้วยตนเอง และโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วย เช่น เพื่อน บุคคลในครอบครัว เป็นต้น และการจัดโปรแกรมการส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขมีความรู้และมีทักษะในการส่งเสริมพฤติกรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มแรงสนับสนุนทางสังคมอีกทางหนึ่งเช่นกัน ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยได้รับข้อมูลทางสุขภาพจากอาสาสมัครสาธารณสุขน้อยกว่าจากแหล่งอื่นๆ
Download : hs2225.zip สมัครสมาชิกก่อนดาวน์โหลด(signup free)
(สมัครสมาชิกได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/register-hsri)
แสดงความคิดเห็น