การศึกษาระบบ-ระเบียบการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐบาล ระยะเวลา : กรกฎาคม 2549-สิงหาคม 2550
การจัดซื้อยาเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อพัสดุซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับให้การจัดซื้อจัดหายาของโรงพยาบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ได้ยาที่มีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ทันเวลา และโปร่งใส ตรวจสอบได้
ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมในระบบได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในแง่ของยาใหม่ที่เข้าสู่ตลาด อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราเงินเฟ้อ ราคายา จำนวนผู้ป่วย และแนวทางการดำเนินการทางการตลาดของบริษัทยา ล้วนมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐ ระเบียบพัสดุพ.ศ.2535 แม้จะถูกปรับเปลี่ยนในบางจุด แต่ก็ยังคงมีข้อสังเกตบางประการซึ่งทำให้การทำงานของผู้ปฏิบัติงานเป็นไปอย่างยากลำบาก จึงเป็นที่มาของการศึกษาทบทวนระบบ ระเบียบการจัดซื้อยาเพื่อระบุปัญหา ผลกระทบ ตลอดจนระดมสมองเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงระเบียบจัดซื้อยาซึ่งเหมาะสมกับการปฏิบัติงานจริง ขณะที่เอื้อให้การจัดซื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส
จากการทบทวนระเบียบจัดซื้อพัสดุและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยาในประเทศไทย การประชุมระดมสมองเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยา และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบ สรุปได้ว่านโยบายและระเบียบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่เอื้อให้การทำงานเพื่อให้สามารถซื้อยาได้ทันกับความต้องการของผู้ป่วย ขณะที่ต้องพยายามทำตามระเบียบซึ่งวางไว้
อาจกล่าวได้ว่าปัญหาที่พบในการจัดซื้อยาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติ (implementation failure) และ 2) ปัญหาในเชิงกรอบแนวคิดของนโยบาย (theoretical failure)
ปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติเกิดจากความไม่พร้อมของกลไกรองรับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบการจัดซื้อยา ตัวอย่างของปัญหาประเภทนี้ได้แก่ การกำหนดให้การจัดซื้อต้องอ้างอิงราคากลาง แต่ฐานข้อมูลราคากลางที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้สะท้อนสภาวะตลาดที่แท้จริง หรือปัญหาความไม่พร้อมของกลไกการตรวจสอบ และการเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพยาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
สำหรับกรอบแนวคิดของนโยบาย เช่น การกำหนดสัดส่วนของเงินงบประมาณที่ให้จัดซื้อยาชื่อสามัญในบัญชียาหลัก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ให้ประกันในระบบประกันสุขภาพ การกำหนดให้หน่วยราชการต้องจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม โครงสร้างราคากลางและการกำหนดกรอบโดยไม่สนใจธรรมชาติของการดำเนินกิจการผู้ขาย ก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากการกำหนดนโยบาย ณ เวลาหนึ่ง ย่อมเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง นโยบายซึ่งเคยเหมาะสมอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินความเหมาะสมของนโยบาย และปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน