แผนงานวิจัยระบบหลักประกันสุขภาพ
ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพหลัก 3 ระบบใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสุขภาพหลักแต่ละระบบมีวิวัฒนาการ แนวคิด และการออกแบบระบบที่แตกต่างกัน เช่น รูปแบบการคลัง การได้รับสนับสนุนงบประมาณภาครัฐ สิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการใช้บริการ รูปแบบ และวิธีการจ่าย รวมทั้งยังมีระบบประกันสุขภาพย่อยซึ่งทับซ้อนกับระบบประกันสุขภาพหลัก จึงก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างระบบ จึงควรมีการวิจัยติดตามประเมินผลสมรรถนะระบบหลักประกันสุขภาพในการลดความเหลื่อมล้ำของระบบ
แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและติดตามประเมินระบบหลักประกันสุขภาพและการคลังระบบสาธารณสุขเพื่อสะท้อนกลับข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสีย พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและตัวชี้วัดเพื่อการติดตามผลระบบการเงินการคลังสุขภาพ ให้มีข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบประกันสุขภาพและบริการสาธารณสุขในมิติต่างๆ ให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารจัดการระบบ ผู้ให้บริการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสามารถให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐในระดับนโยบายอื่นๆ ได้เช่น สภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- องค์ความรู้เกี่ยวกับสมรรถนะระบบประกันสุขภาพภายใต้นโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพไทย
- ข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ
- แนวทางการดำเนินการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับประชากรต่างด้าวกลุ่มต่างๆ
- แนวทางการดำเนินการจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว
- การขับเคลื่อนผลงานวิจัยในแผนงานไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งด้านกำหนดนโยบายและการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพไทย
ผู้รับผิดชอบ
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์