แผนงานวิจัยระบบบริการสุขภาพ
ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากผู้รับบริการเข้าถึงระบบบริการและต้องการบริการสุขภาพที่มีความเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงประชากรด้านโครงสร้าง ประชากรสูงอายุมีชีวิตยืนยาวขึ้น บางส่วนมีภาวะเจ็บป่วย แต่ระบบบริการก็ยังมีข้อจำกัดด้านยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาแพง จนส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศ โรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำส่วนหนึ่งอาจมาจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศ ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพ
แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำวิจัยและสร้างเครือข่ายวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อการพัฒนานโยบายของประเทศ เสนอรูปแบบการจัดระบบหรือนำเสนอต้นแบบการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่หน่วยบริการต่างๆ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- การพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพของ 12 เขตบริการสุขภาพ
- การเตรียมความพร้อมของระบบบริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากนโยบาย medical hub และการขยายบริการในภาคเอกชนและภาครัฐ
- การพัฒนาระบบและรูปแบบบริการสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง (chronic care)
- การใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพ
- การพัฒนาบุคลากรในระบบบริการสุขภาพให้มีบทบาทวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- การพัฒนาระบบจัดการคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยในสถานพยาบาล
- การวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการดูแลสุขภาพที่บ้านในระบบบริการปฐมภูมิของไทย
- การขับเคลื่อนผลงานวิจัยในแผนงานไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งด้านกำหนดนโยบายและการพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย
ผู้รับผิดชอบ
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์