Efavirenz WHO PQ: กรณีศึกษาความร่วมมือรัฐ-เอกชน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและควบคุมคุณภาพ

Efavirenz WHO PQ: กรณีศึกษาความร่วมมือรัฐ-เอกชน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและควบคุมคุณภาพ
โดย นุศราพร เกษสมบูรณ์ และคณะ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิค ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์และมีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จ
วัตถุประสงค์
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อให้ได้การรับรอง WHO Prequalification Programme (WHO PQ)
วิธีการศึกษา
โดยการใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยศึกษาเอกสารที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการศึกษา
องค์การเภสัชกรรมได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท Mylan ซึ่งเป็นบริษัทยาชื่อสามัญชั้นนำจากอินเดีย จนสามารถผลิตและควบคุมคุณภาพยาต้านไวรัส Efavirenz และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้การดำเนินดังกล่าวมีข้อสรุปที่สำคัญคือ
- การตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผลักดันให้ อภ. ต้องได้มาตรฐานการรับรอง WHO PQ และการตัดสินใจในการทำความร่วมมือกับบริษัท Mylan
- ปัจจัยความสำเร็จ คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ถ่ายทอดและผู้รับการถ่ายทอด ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมุ่งมั่นระหว่างองค์การเภสัชกรรมและบริษัท Mylan ในด้านการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ที่นำไปสู่การรับรองมาตรฐาน WHO PQ โดยมีปัจจัยเอื้อในประเทศ ได้แก่ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สนับสนุนการแก้ปัญหาเอดส์ด้วยการผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีภายในประเทศ ศักยภาพขององค์การเภสัชกรรมและการมีแผนพัฒนาศักยภาพที่ยั่งยืนในประเทศไทย เรื่อง WHO Pre-qualification Scheme เมื่อปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ บริบทระหว่างประเทศโดยเฉพาะการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนโลก (Global Fund) เห็นชอบให้องค์การอนามัยโลกสนับสนุนในรูปแบบ Technical Assistance เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีกำลังการผลิตยาสามารถยกระดับคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับให้ยาต้านไวรัสกับโครงการในประเทศต่างๆ ที่ใช้งบประมาณกองทุนโลกจัดซื้อได้
- อุปสรรคที่ทำให้ อภ. ต้องใช้เวลากว่า 17 ปี เพื่อได้รับการรับรอง WHO PQ คือ ความไม่พร้อมขององค์การเภสัชกรรม ทั้งสถานที่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ การออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยีและบุคลากร รวมถึงระบบการบริหารจัดการของ อภ. ที่ทำให้ผู้บริหารและคณะกรรมการบางช่วงบางสมัยให้ความสำคัญในประเด็นอื่น
สรุปผลการศึกษา
บทเรียนจากการสร้างทีมงานชุดใหม่ ผนวกกับวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ ที่มีความเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันและการสนับสนุนจากผู้บริหารในหลายช่วง ในที่สุดทำให้โครงการ WHO PQ สำเร็จได้ ส่งผลให้ อภ. สามารถสร้างระบบงานคุณภาพที่เข้มแข็งในการผลิตยาในภาพรวมขององค์กรและบุคลากร จนสามารถสร้างภาพลักษณ์ของ อภ.ในตลาดต่างประเทศให้มีความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ของ อภ.
ดาวน์โหลดฉบับเต็ม E-book
PDF สมัครสมาชิกก่อนดาวน์โหลด (signup free)
(สมัครสมาชิกได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/register-hsri)
แสดงความคิดเห็น