การจัดระบบชดเชยค่าบริการการแพทย์ กรณีสิทธิประโยชน์การป้องกันและรักษาโรคเอชไอวี/เอดส์ สำหรับประชากรต่างด้าวในประเทศไทย

Title: การจัดระบบชดเชยค่าบริการการแพทย์ กรณีสิทธิประโยชน์การป้องกันและรักษาโรคเอชไอวี/เอดส์ สำหรับประชากรต่างด้าวในประเทศไทย
Authors: ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ และคณะ
Issue Date: Oct-2020
Publisher: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
Abstract
การขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมบุคคลทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยนั้น มีความพยายามในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่บุคคลต่างด้าวที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย เพื่อเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งนี้ การติดเชื้อ HIV/AIDS เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนต่างด้าวปัญหาหนึ่งและอาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพกับประชากรไทย ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการป้องกันและรักษาผู้ป่วย HIV/AIDS ในชุดสิทธิประโยชน์ของบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว โดยมีการเพิ่มราคาบัตรประกันสุขภาพและนำส่วนต่างของเบี้ยประกันภัย 300 บาท นำมาใช้สำหรับความคุ้มครองโรค HIV/AIDS และกรณีค่าใช้จ่ายสูง แต่ยังมีกลุ่มผู้ป่วยต่างด้าวที่ติดเชื้อ HIV/AIDS และไม่มีประกันสุขภาพ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยจะพึงมีระบบการจัดการผู้ป่วยต่างด้าวที่เป็นโรค HIV/AIDS อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน
งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมและมีวัตถุประสงค์ คือ
- เพื่อศึกษาสถานการณ์การให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยต่างด้าวที่ติดเชื้อ ทำการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เพื่อคำนวณภาระค่าใช้จ่ายและทำการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการและองค์การพัฒนาเอกชนถึงสถานการณ์การให้บริการ
- เพื่อศึกษาแนวทางการจัดบริการชดเชยค่าบริการทางการแพทย์กรณีดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อ HIV/AIDS ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่มกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการและองค์การพัฒนาเอกชน
- ทบทวนอัตราเบี้ยประกันภัย สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรค HIV/AIDS สำหรับแรงงานต่างด้าว โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ประกันภัย
ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพบริการในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่างด้าว HIV/AIDS ทั้งที่มีประกันสุขภาพและไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากโรงพยาบาลใช้แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทยของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นแนวทางในการดูแลรักษา ภาระค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกในกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ HIV/AIDS ที่มีบัตรประกันสุขภาพ ได้แก่ กรณีผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับค่ายา ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรณีผู้ป่วยใน โรงพยาบาลจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากค่ารักษาจากโรคฉวยโอกาส เนื่องจากได้รับชดเชยน้อยกว่าค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริงที่เรียกระบบส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในประเทศต้นทาง เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย HIV/AIDS ที่ไม่มีประกันสุขภาพและลดภาระการบริการของผู้ป่วยรายใหม่
สำหรับแนวทางการจัดบริการกรณีดูแลรักษาผู้ป่วย HIV/AIDS ของประชากรต่างด้าวที่ไม่มีการประกันสุขภาพนั้น มี 2 แนวคิด ได้แก่ 1. ไม่ให้บริการดูแลรักษา แต่จะใช้ระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรับการดูแลรักษายังประเทศต้นทางของตน 2. ให้บริการดูแลรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิดความเป็นธรรมทางสุขภาพที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความมั่นคงทางสุขภาพที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่าการเงินการคลัง
ผลการทบทวนอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับสิทธิประโยชน์การป้องกันและรักษาผู้ป่วย HIV/AIDS ที่เป็นแรงงานต่างด้าวนั้น จากการคำนวณจะได้เบี้ยประกันสุทธิเพียง 11.9 ถึง 32.5 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่กองทุนแรงงานต่างด้าวกำหนด กรณีดูแลและรักษาผู้ป่วย HIV/AIDS ที่ 300 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามการแปลผลการศึกษาในส่วนนี้พึงทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเบี้ยประกันที่คำนวณได้นี้ยังไม่ได้รวมค่าบริหารจัดการส่วนอื่นร่วมด้วยและคำนวณบนสมมติฐานของการใช้บริการดูแลรักษา HIV/AIDS ที่ค่อนข้างต่ำ
ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่
- กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว ควรพิจารณานำเงินคงเหลือจากเบี้ยประกันกรณีค่าใช้จ่ายสูงและการรักษา HIV/AIDS ที่บริหารจัดการที่ส่วนกลางไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลแบกรับอยู่ จากการดูแลผู้ป่วยต่างด้าวที่ตกหล่นจากการประกันสุขภาพ
- กองทุนผู้ประกันตนคนต่างด้าว ควรปรับอัตราค่าบริการทางการแพทย์ที่กองทุนกำหนดไว้ให้สอดคล้องและเป็นไปตามต้นทุนของหน่วยบริการ
- ควรมุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินการจัดการ HIV/AIDS ในแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจร ทั้งนี้นอกจากกระบวนค้นหา ติดเชื้อรายใหม่และการรักษาแล้ว ควรต้องมีการป้องกันในการแพร่กระจายเชื้อจนเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่
Download : hs2533.pdf สมัครสมาชิกก่อนดาวน์โหลด (signup free)
(สมัครสมาชิกได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/register-hsri)
แสดงความคิดเห็น